สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เชิญผู้ทรงคุณวุฒิระดับแนวหน้าของประเทศไทยจากหลายภาคส่วน ร่วมประชุมนัดแรกผ่านระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อหารือ Scenario Planning: มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19 โดยมีเป้าหมายเพื่อหามาตรการฟื้นตัวของประเทศโดยเร็วที่สุด ตลอดจนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคมให้มีความเข้มแข็งเพื่อรับมือกับภาวะวิกฤตในอนาคต
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า เวลานี้เป็นช่วงที่ทุกฝ่ายต้องร่วมด้วยช่วยกันเพื่อให้ประเทศผ่านวิกฤตจากการระบาดของโควิด 19 ไปให้ได้ ทั้งนี้ ไม่เพียงแค่หาแนวทางควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในมิติเดียวเท่านั้น แต่ต้องมองถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวด้วย การหารือครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนภาคการศึกษา อาทิ ดร. พิเชฐ ดุงรงคเวโรจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ศ.ดร. นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย ที่ปรึกษา สอวช. นายกานต์ ตระกูลฮุน อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดร. สีลาภรณ์ บัวสาย คณะกรรมการบริหารหน่วยบริหารและจัดการทุน บพท. นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ มาร่วมวิเคราะห์และให้ความเห็นต่อสถานการณ์เพื่อหาแนวทางในการฟื้นฟูประเทศ
หัวข้อในหารือในครั้งนี้ ได้ยกมิติด้านสาธารณสุข ว่า อะไรคือปัจจัยที่จะหยุดการแพร่ระบาดของโควิด 19 รวมทั้งการเตรียมความสามารถในการรองรับการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ หรืออุบัติซ้ำในอนาคต มิติการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ได้มีการหารือและวิเคราะห์มาตรการที่ภาครัฐออกมาช่วยเหลือในเบื้องต้นว่าเพียงพอ และดูแลได้อย่างทั่วถึงหรือไม่ และจะสามารถช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจให้หลุดพ้นช่วงวิกฤต ตลอดจนการเตรียมพร้อมเพื่อ Take-off เมื่อพ้นช่วงวิกฤตอย่างไร นอกจากนี้ ในส่วนของ มิติด้านการศึกษาและการเรียนรู้ ที่ต้องมีระบบดิจิทัลรองรับ สามารถเรียนรู้ได้ตลอดช่วงอายุ เข้าถึงทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา ราคาจับต้องได้ แต่ต้องมีคุณภาพสูง นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือถึงมิติการเตรียมความพร้อมเศรษฐกิจและสังคมสู่ ความปกติแบบใหม่ หรือ New Normal คือ หาแนวทางรับมือกับเรื่องที่เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ในสังคม สิ่งเหล่านี้ได้มีการหารือและวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการฟื้นฟู ที่ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะมีส่วนช่วยได้ทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว