หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเปิด เผยว่า สถานการณ์การจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ชะลอจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในประเทศกลุ่มเสี่ยงจากการแพร่ระบาด โดยเฉพาะประเทศอิสราเอล หลังรัฐบาลอิสราเอลขอความร่วมมือให้ไทยชะลอการจัดส่งแรงงานตามความร่วมมือ ไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (TIC) ออกไปก่อน ส่วนประเทศปลายทางอื่น ขึ้นอยู่กับมาตรการการอนุญาตเดินทางเข้าออกประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีประเทศระงับการเดินทางเข้าประเทศชั่วคราว ได้แก่ กาตาร์ บาห์เรน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และหากได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศได้แล้วต้องปฏิบัติตามประกาศและมาตรการของภาครัฐในประเทศนั้น ๆ ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดด้วย
“ ส่วนการเดินทางไปทำงานประเทศอื่น ๆ ที่กรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง เช่น สาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้ระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) นั้น คนหางานควรตรวจสอบข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ในสาธารณรัฐเกาหลีก่อนเพื่อวางแผนการเดินทาง โดยหากประสงค์จะเดินทางจะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตามที่ทางสาธารณรัฐเกาหลีกำหนด เช่น การกักตัวเพื่อเฝ้าดูอาการ 14 วัน อย่างไรก็ดีถึงแม้ว่าอิสราเอล จะถือว่าเป็นตลาดแรงงานใหญ่ของไทย แต่ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบกับการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศในภาพรวม ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
ด้าน นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสถานการณ์ของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 การจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศและการปฏิบัติต่างๆ ของกรมการจัดหางานจะดำเนินการอยู่ภายใต้นโยบายและประกาศกำหนดของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ดี จากสถิติเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ก่อนที่รัฐบาลจะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีคนหางานไปทำงานต่างประเทศผ่านด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิ จำนวนทั้งสิ้น 3,737 คน นิยมเดินทางไปทำงานในไต้หวันมากที่สุด จำนวน 1,648 คน รองมาเป็น สาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 457 คน และญี่ปุ่น จำนวน 301 คน ขณะเดียวกันได้ระงับการเดินทางของผู้ที่มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานในต่างประเทศและ ให้การยอมรับว่าจะไปทำงานในต่างประเทศ จำนวน 56 คน โดยระงับผู้ที่จะเดินทางไปสาธารณรัฐเกาหลีมากที่สุด จำนวน 31 คน รองลงมาเป็นโอมาน 17 คน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 5 คน ตามลำดับ