พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังร่วมคณะนายกรัฐมนตรีเยือนสหพันธรัฐรัสเซีย ระหว่างวันที่ 17 – 21 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ว่าได้ลงนามร่วมกับนายเซอร์เกย์ เลอวิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ในบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย และกระทรวงเกษตรของรัสเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร ซึ่งเอ็มโอยูฉบับนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาการทางการเกษตรกับสหพันธรัฐรัสเซีย รวมทั้งอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุนด้านการเกษตรระหว่างกัน และขยายไปยังสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย ได้แก่ รัสเซีย คาซัคสถาน คีย์กีซสถาน เบลารุส อามาเนีย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรไทยที่มีศักยภาพสูง อาทิ สินค้าประมง ปศุสัตว์ พืชสดและแปรรูป เช่น มะม่วง แตงโม ข้าว และสับปะรดกระป๋อง เนื่องจากเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยม และมีคุณภาพมาตรฐาน ความปลอดภัย เป็นที่ยอมรับในตลาดรัสเซีย ซึ่งหลังจากการลงนาม ทั้งสองประเทศจะมีคณะทำงานร่วม (JWG) จะอยู่ภายใต้คณะอนุกรรมาธิการว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรของคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-รัสเซีย เพื่อหารือร่วมกันในกรอบความร่วมมือให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไทย-รัสเซีย เป็นรูปธรรมและเกิดผลสำเร็จยิ่งขึ้น รวมถึงสอดคล้องกับเป้าหมาย ที่จะผลักดันการขยายตลาดสินค้าเกษตรไทยในรัสเซียและกลุ่มประเทศยูเรเซีย กระทรวงเกษตรเตรียมส่งอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการเกษตร) ไปประจำ ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ภายในปี 2559 เพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของทีมประเทศไทยในเรื่องการผลักดันการขยายตลาดสินค้าเกษตรไทยในรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช การอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเกษตร เปิดตลาดสินค้าเกษตรชนิดใหม่ๆ การติดต่อประสานงานด้านเทคนิคทางการเกษตร เช่น กล้วยไม้ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยสามารถส่งออกได้ แต่ยังพบปัญหาอุปสรรคอยู่ เนื่องจากรัสเซียปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ และมาตรฐานอยู่บ่อยๆ
นอกจาก การลงนามเอ็มโอยูด้านการเกษตรแล้ว ไทยและรัสเซีย ยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมประมงไทย กับสำนักงานเฝ้าระวัง สุขอนามัยพืชและสัตว์ รัสเซีย หรือ FSVPS ด้านการนำเข้า-ส่งออกสัตว์น้ำ เพื่อพัฒนาความร่วมมือในการควบคุม ความปลอดภัยสินค้าสัตว์น้ำ และการยอมรับความเท่าเทียมของระบบตรวจรับรองของทั้งสองหน่วยงาน อันจะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการและเป็นช่องทางให้กรมประมงติดต่อประสานงานกับหน่วยงาน FSVPS ได้อย่างดี และเป็นการขยายการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไปยังสหพันธรัฐรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรัสเซียเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่ของไทยในยุโรปตะวันออกและเครือรัฐเอกราช (CIS) ประกอบด้วย รัสเซีย และอีก 10 ประเทศ ได้แก่ ยูเครน เบลารุส มอลโดวา จอร์เจีย อาเซอร์ไบจาน อาร์มีเนีย คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน คีร์กิซสถาน เติร์กเมนิสถาน และทาจิกิสถาน โดยกลุ่มประเทศ CIS ถือเป็นกลุ่มตลาดใหม่ มีลู่ทางสดใส แม้จะมีฐานตลาดเล็กแต่มีแนวโน้มเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรัสเซียยังมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ เป็นตลาดที่มีศักยภาพ มีประชากรจำนวนมาก และประชากรมีกำลังซื้อสูง ทั้งยังมีนโยบายให้มีความมั่นคงอาหารในประเทศ ส่งเสริมการบริโภคเนื้อสัตว์ของประชากรให้เพิ่มขึ้น ซึ่งในอนาคตจะส่งผลให้รัสเซียมีความต้องการด้านอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปรัสเซียคิดเป็นมูลค่าประมาณปีละ 5,577 ล้านบาท โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับรัสเซีย สำหรับสินค้าเกษตรไทยส่งออกไปยังรัสเซียที่สำคัญ อาทิ สับปะรดปรุงแต่ง/พืชผัก ผลไม้ ข้าว ปลาทูนา กุ้งแช่แข็ง