ก.เกษตรฯ เผยสถานการณ์สินค้าเกษตรที่สำคัญปี 2563 ยืนยันชัด ผลผลิตพืช ปศุสัตว์ ประมง ไม่ขาดแคลนสินค้าบริโภคภายในประเทศแน่นอน เน้นย้ำทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค การตื่นกลัวต่อภาวการณ์ขาดแคลนอาหาร และการกักตุนอาหาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) จึงได้ให้ความมั่นใจว่า จะไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนสินค้าในประเทศอย่างแน่นอน พร้อมสั่งการทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ติดตามสถานการณ์การผลิตสินค้าและการบริหารสินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้เพิ่มช่องทางการนำสินค้าเกษตรสู่ตลาด Online ให้มากขึ้น และเตรียมความพร้อมรองรับแรงงานคืนถิ่นสู่ภาคเกษตร (Labor migration) จากการปิดสถานประกอบการต่างๆ โดยกรมชลประทานเป็นหลักในการดำเนินการจ้างงาน
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยมอบหมายให้นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลและทำงานเชิงบูรณาการอย่างใกล้ชิดทั้งหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชน โดยมีการประชุมร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งเห็นตรงกันว่าสินค้าอุปโภคบริโภคจะไม่ขาดแคลน สามารถเร่งการผลิตได้เต็มที่ เพราะปัจจุบันเดินเครื่องการผลิตเพียง 60%
นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การคาดการณ์ Supply Chain ได้ติดตามสถานการณ์ผลผลิตการเกษตร ยืนยันไม่ขาดแคลนสินค้าเพื่อการบริโภคภายในประเทศ กรณีมีการ lock down 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ โดยสินค้าเกษตรที่สำคัญ ในปี 2563 ได้แก่ ข้าว สินค้าประมง สินค้าปศุสัตว์ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง มะพร้าว และอ้อยโรงงาน ทั้งนี้ จากการระบาดของโรค Covid-19 เชื่อมั่นว่าสินค้าเกษตรที่สำคัญ ในปี 2563 มีกำลังการผลิตที่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศอย่างแน่นอน
แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ยังคอยติดตามในประเด็นต่างๆ อาทิ ด้านแรงงาน Logistic การขนส่งอาหาร การส่งออกให้เกิดความสมดุล ตลอดจนการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ให้มากยิ่งขึ้น โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้วิเคราะห์ถึงกำลังการผลิตสินค้าที่สำคัญไว้ ดังนี้
ข้าว ปี 2562/63 คาดว่ามีผลผลิตข้าวรวม (นาปี+นาปรัง) 28.375 ล้านตันข้าวเปลือก ความต้องการใช้ข้าวคาดการณ์ ปี 2562/63 จำนวน 32.48 ล้านตัน แบ่งเป็น การบริโภคภายในประเทศ 13.320 ล้านตันข้าวเปลือก ส่งออกต่างประเทศ 15.38 ล้านตันข้าวเปลือก ใช้ทำเมล็ดพันธุ์ 1.37 ล้านตันข้าวเปลือก ใช้ในอุตสาหกรรม 2.4 ล้านตันข้าวเปลือก ไทยมีปริมาณผลผลิตข้าวที่เพียงพอเพื่อบริโภค รวมทั้งอาจจะส่งผลดีต่อการส่งออก เนื่องจากทั่วโลกมีความกังวล และตื่นตัวต่อสถานการณ์ดังกล่าว มีการกักตุนสินค้าและอาหารมากขึ้น มีการนำเข้าข้าวเพื่อสำรองไว้สำหรับความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ จึงอาจจะส่งผลให้ไทยส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้น
สินค้าประมง คาดการณ์ผลผลิตสินค้าประมงในปี 2563 จำนวน 2.7 ล้านตัน ซึ่งไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าประมงที่สำคัญ เช่น กุ้ง ปลานิล ซึ่งมีแหล่งการเพาะเลี้ยงกระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศและสามารถกระจายผลิตออกสู่ตลาดได้ตลอดทั้งปี จึงไม่มีปัญหาการขาดแคลนสินค้าประมงสำหรับบริโภคในประเทศ รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบกับการกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภค เนื่องจากมีตลาดสินค้าประมงกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ และรอบๆ กรุงเทพฯ เช่น ตลาดทะเลไทย ตลาดปลาบางเลน ตลาดปลาฉะเชิงเทรา และมีที่ส่งตรงให้กับห้างโมเดิร์นเทรด เช่น แมคโคร โลตัส บิ๊กซี เป็นต้น
โดยสินค้ากุ้ง ในปี 2563 คาดว่าการผลิตกุ้งทะเลไทยจะมีปริมาณ 0.325 ล้านตัน ส่งออกต่างประเทศร้อยละ 82.76 และบริโภคภายในประเทศ ร้อยละ 17.24 ผลผลิตมีเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ สำหรับการส่งออก อาจกระทบในตลาดจีนลดลงในระยะสั้น โดยไทยมีตลาดหลัก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรป ส่วนผลผลิตปลานิล ผลผลิตมีเพียงพอต่อการบริโภค ปี 2563 คาดว่าการผลิตปลานิลของไทยจะมีปริมาณ 0.198 ล้านตัน บริโภคภายในประเทศร้อยละ 97.69 ส่งออกไปยังต่างประเทศเพียงร้อยละ 2.31
สินค้าปศุสัตว์ ปี 2563 กรมปศุสัตว์คาดว่า 1) การผลิตเนื้อไก่ของไทยจะมีปริมาณ 2.88 ล้านตัน โดยการบริโภคในประเทศคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62.91 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด สำหรับสินค้าไก่เนื้อ ความต้องการบริโภคเนื้อไก่ของตลาดในประเทศมีแนวโน้มลดลงจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศลดลง ปริมาณการผลิตสินค้าไก่เนื้อสามารถรองรับความต้องการบริโภคได้อย่างเพียงพอ โดยผู้ประกอบการสามารถวางแผนและเพิ่มกำลังการผลิตให้ออกสู่ตลาดได้หากมีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น หากเกิดกรณีปิดประเทศ จึงคาดว่าจะไม่ส่งผลต่อผู้บริโภคในประเทศที่ยังคงมีสินค้าไก่เนื้อและผลิตภัณฑ์สำหรับบริโภคอย่างเพียงพอ
2) สินค้าไข่ไก่ คาดว่าการผลิตไข่ไก่ของไทยจะมีปริมาณ 15,147.50 ล้านฟอง โดยการผลิตส่วนใหญ่ใช้สำหรับเพื่อบริโภคในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 98.31 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด ผลกระทบจาก COVID-19 เนื่องจากตลาดหลักของสินค้าไข่ไก่ คือตลาดภายในประเทศ หากเกิดกรณีปิดประเทศ คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค 3) สินค้าสุกร คาดว่าการผลิตสุกรของไทยจะมีปริมาณ 1.68 ล้านตัน โดยการผลิตส่วนใหญ่ใช้สำหรับเพื่อบริโภคในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 92.86 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด สินค้าสุกรส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศ ในขณะที่การส่งออกยังคงส่งออกได้ตามปกติ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านยังมีความต้องการสุกรมีชีวิตจากการระบาดของโรค ASF ในต่างประเทศ ทำให้ยังคงมีความต้องการสุกรมีชีวิตจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ด้านการส่งออกได้รับผลกระทบไม่มากนัก
ปาล์มน้ำมัน การผลิต ปี 2563 มีผลผลิตปาล์มน้ำมันรวม 17.80 ล้านตัน ความต้องการใช้ โดยน้ำมันปาล์มเป็นสินค้าที่ผลิตเพื่อใช้ในประเทศเป็นหลัก คิดเป็นร้อยละ 90 ส่งออกเพียงร้อยละ 10 ซึ่งความต้องการใช้ภายในประเทศรวม 3.33 ล้านต้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่น้ำมันปาล์มมีไม่เพียงพอ ภาครัฐสามารถบริหารจัดการเพื่อรักษาสมดุลน้ำมันปาล์มภายในประเทศ และไม่ให้กระทบกับผู้บริโภคโดยใช้มาตรการปรับลดสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลผสมในน้ำมันดีเซล B10 เป็นน้ำมันดีเซลฐาน
มันสำปะหลัง ปี 2563 คาดว่ามีผลผลิตมันสำปะหลัง 29.493 ล้านตันหัวมันสด ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 5.11 โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค. - มี.ค. 2563) คาดว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณ 19.023 ล้านตันหัวมันสด (คิดเป็นร้อยละ 64.50 ของผลผลิตทั้งหมด) ลดลงจาก 20.107 ล้านตัน (ร้อยละ 64.7 ของผลผลิตทั้งหมด) ในช่วงเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 5.39 โดยราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้ 3 เดือนแรก เฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.93 บาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่เฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.17 บาท ลดลงร้อยละ 11.06 ซึ่งราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 (ม.ค. – มี.ค. 2563) ยังค่อนข้างทรงตัวต่อเนื่องจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้คุณภาพของหัวมันสด (เชื้อแป้ง) ลดลง ทั้งนี้ ผลกระทบจาก Covid -19 อาจจะส่งผลดีต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกมันเส้น ที่นำไปผลิตเป็นแอลกฮอล์สำหรับฆ่าเชื้อโรค Covid -19
สินค้ามะพร้าว ปี 2563 คาดการณ์ผลผลิต 0.846 ล้านตัน มีความต้องการใช้มะพร้าว 1.092 ล้านตัน แบ่งเป็น ใช้ในประเทศร้อยละ 80 และนำเข้าร้อยละ 20 ของความต้องการใช้ในประเทศ โดยใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปกะทิสำเร็จรูป (73%) มะพร้าวหัวขูด (25%) และอื่น ๆ (2%)
อ้อยโรงงาน ปี 2562/2563 คาดการณ์ผลผลิตอ้อยโรงงาน 111.50 ล้านตัน โดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้กำหนดปริมาณน้ำตาลสำหรับบริโภคภายในประเทศปี 2563 จำนวน 2.60 ล้านตัน เท่ากับปี 2562 ซึ่งมีความเพียงพอในการบริโภคภายในประเทศ