พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จัดกิจกรรม“การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ภายใต้โครงการการศึกษาแผนแม่บทการใช้พื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
(ส.ป.ก.) เน้นเป้าวัตถุประสงค์เชิงลึก คือ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลการใช้พื้นที่ของ ส.ป.ก.ในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา 2.) เพื่อศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์ความเหมาะสมในการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขต ส.ป.ก. อ.วังน้ำเขียว และ 3.)เพื่อจัดทำแผนแม่บทการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขต ส.ป.ก. อ.วังน้ำเขียว โดยจัดกิจกรรมแบบเปิดใจ ณ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและประชาชน หมู่ 3 บ้านใหม่ปฏิรูปที่ดิน ตำบลไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา
ทั้งนี้จังหวัดนครราชสีมา เป็น 1 ใน 19 จังหวัด ที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีพื้นที่มากเป็นอันดับ 1 ของภาคนี้ คือ ประมาณ 12 ล้านไร่ (ศูนย์สถิติการเกษตร, 2545) สภาพพื้นที่มีความเหมาะสมแก่การเพาะปลูกจึงมีการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมเนื้อที่ประมาณ 3,064,375 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 20.78 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งกระจายอยู่ในเขตอำเภอบ้านเหลื่อม อำเภอชุมพวง อำเภอสีคิ้ว อำเภอหนองบุนนาค และอำเภอวังน้ำเขียว
แต่สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่มีความความเหมาะสมปานกลาง หากมีการปรับปรุงดินและคัดเลือกพันธุ์พืชที่เหมาะสม จะสามารถเพิ่มผลผลิตการเกษตรได้ (สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม, 2539) ประกอบกับการพัฒนาระบบการชลประทานเพื่อรองรับการผลิตพืชเศรษฐกิจเพื่อการค้า จึงมีการทำการเกษตรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน
อย่างไรก็ตามจากข้อมูลสำนักงานสถิติการเกษตร เปิดเผยไว้ว่า ปี 2518 มีพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 3 ล้านไร่ ส่วนพื้นที่ถือครองทางการเกษตร 5.5 ล้านไร่ แต่เมื่อถึงปี 2542 พื้นที่ป่าไม้ลดลงเหลือเพียงประมาณ 1.3 ล้านไร่ ในขณะที่พื้นที่ถือครองทางการเกษตรเพิ่มสูงขึ้นถึง 7.8 ล้านไร่ และระหว่างปี 2518-2542 มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินทางการเกษตร คือ พื้นที่นาเพิ่มขึ้น 697,715 ไร่ พื้นที่ปลูกพืชไร่ 1,349,988 ไร่ พื้นที่ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น 226,096 ไร่ พื้นที่ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ 6,550 ไร่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าพื้นที่ปลูกพืชไร่เพิ่มขึ้นสูงมาก เนื่องจากมีการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจ อาทิ ข้าวโพด อ้อยมันสำปะหลัง การเพิ่มผลผลิตจึงต้องมีการขยายพื้นที่เพาะปลูก ส่งผลให้พื้นที่ป่าไม้ลดลงอย่างยิ่ง
ด้าน นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวด้วยว่า อำเภอวังน้ำเขียว เป็นอำเภอหนึ่งที่อยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นประตูเชื่อมระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคตะวันออก ติดต่อกับเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน มีสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูงล้อมสลับที่ลาดชันเป็นลอนคลื่นตลอดทั้งพื้นที่ มีปริมาณฝนมากสามารถปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี มีทิวทัศน์สวยงาม พื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก และนักท่องเที่ยวนิยมมาพักผ่อนกันมาก ส่งผลให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ โรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร เป็นต้น
ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการถือครองที่ดินเพื่อดำเนินการใช้ประโยชน์ที่ไม่เหมาะสมในเขต ส.ป.ก เกิดปัญหาการรุกล้ำและการบุกรุกที่ดิน ส.ป.ก. โดยเฉพาะปัญหาการบุกรุกพื้นที่ ส.ป.ก. ในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียวได้แก่ การซื้อขายที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินอำเภอวังน้ำเขียว การสร้างรีสอร์ทในเขตปฏิรูปที่ดินอำเภอวังน้ำเขียว และขาดข้อมูลการติดตามการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นต้น โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมกับ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จึงได้จัดกิจกรรม การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ภายใต้โครงการการศึกษาแผนแม่บทการใช้พื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อให้การจัดสรรที่ดินเป็นไปตามวัตถุประสงค์และตามกฎหมายของ ส.ป.ก.
รวมทั้งมิให้เกิดความขัดแย้งการจัดสรรที่ดิน เกิดความเหมาะสมต่อกิจกรรมและวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดแผนแม่บทการใช้พื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) ในเขตพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียวเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้พื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน อ.วังน้ำเขียว เป็นพื้นที่ทำกินของเกษตรกร โดยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรมของเกษตรกร สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ.2557 – 2560
โดยในเบื้องต้น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้สำรวจและศึกษาข้อมูลการใช้พื้นที่ ส.ป.ก. ในเขตพื้นที่อ.วังน้ำเขียว โดยรวบรวมข้อมูลทั่วไป อาทิ ข้อมูลลักษณะทางกายภาพ ลักษณะทางสังคม ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พร้อมทั้งจัดทำระบบสารสนเทศของพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว โดยศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์ความเหมาะสมในการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ ส.ป.ก. ในเขตพื้นที่อ.วังน้ำเขียว (คือ ตำบลไทยสามัคคี ตำบลระเริง ตำบลวังน้ำเขียวตำบลวังหมี และตำบลอุดมทรัพย์) จัดทำแผนแม่บทการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ ส.ป.ก. โดยนำข้อมูลทั้งหมดมาจัดทำร่างแผนแม่บทการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ ส.ป.ก. อำเภอวังน้ำเขียว ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา
นอกจากนี้ เลขาธิการ ส.ป.ก. ยังกล่าวอีกว่า ได้จัดสัมมนากลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างแผนแม่บทที่จัดทำและสรุปแผนแม่บทการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ส.ป.ก. อำเภอวังน้ำเขียว ซึ่งได้ใช้พื้นที่ศึกษาในเขตอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมาด้วย