21 เมษายน 2563 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการการขยายกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับสิทธิของมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ให้ครอบคลุมทั่วถึงผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) จากเดิมจำนวน 9 ล้านคน เป็น 14 ล้านคน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ สำหรับเรื่องงบประมาณ ให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณพิจารณาร่วมกันอีกครั้งถึงแหล่งเงินงบประมาณที่จะสามารถนำมาใช้ดำเนินการได้ทันการณ์
สาระสำคัญของเรื่อง ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 เห็นชอบในหลักการมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) (มาตรการฯ) ซึ่งเป็นมาตรการและโครงการภายใต้ชุดมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 และได้มีมติเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 เห็นชอบการขยายกลุ่มเป้าหมายเพื่อดำเนินมาตรการฯ เป็นจำนวน 9 ล้านคน รวมทั้งเห็นชอบแนวทางการใช้จ่ายงบประมาณตามที่กระทรวงการคลังเสนอ นั้น
เนื่องจากกระทรวงการคลังได้เปิดให้ผู้ได้รับผลกระทบลงทะเบียนตามมาตรการฯ และพบว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบมีมากกว่าที่ได้ประมาณการไว้ อีกทั้งจากการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผู้เข้าข่ายได้รับสิทธิในการชดเชยรายได้ตามมาตรการฯ พบว่า ผู้ได้รับผลกระทบบางส่วนมีรายชื่อปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรือฐานข้อมูลนักเรียน/นักศึกษา แต่ประกอบอาชีพลูกจ้าง แรงงาน หรือประกอบอาชีพอิสระเป็นอาชีพหลัก ดังนั้น เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง กระทรวงการคลังจึงเห็นสมควรเสนอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการฯ
มาตรการฯ กำหนดให้ชดเชยรายได้แก่ผู้ได้รับผลกระทบครั้งแรกในเดือนเมษายน 2563 และในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ยังคงส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างและทุกพื้นที่ จึงจำเป็นต้องเร่งให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบและบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต
กระทรวงการคลังขอเรียนว่า จากการเปิดให้ผู้ได้รับผลกระทบลงทะเบียนตามมาตรการฯ ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม ถึงวันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน 2563 เวลา 20.00 น. พบว่า ผู้ลงทะเบียนมีจำนวนรวม 27.76 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนมากกว่าที่ได้ประมาณการไว้ อีกทั้ง จากการรับเรื่องร้องเรียนของผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการฯ พบว่า ผู้ได้รับผลกระทบบางส่วนมีรายชื่อปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ประกอบอาชีพลูกจ้าง แรงงาน หรือประกอบอาชีพอิสระเป็นอาชีพหลัก ดังนั้น จึงเห็นควรให้ผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มนี้ได้รับสิทธิตามมาตรการฯ ดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ หากผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มดังกล่าวได้รับสิทธิตามมาตรการฯ แล้ว จะไม่สามารถขอรับความช่วยเหลือจากมาตรการใดๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) อีกต่อไป
นอกจากนี้ ผู้ได้รับผลกระทบบางกลุ่มปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลนักเรียน/นักศึกษา แต่เป็นนักเรียน/นักศึกษาไม่เต็มเวลา และประกอบอาชีพลูกจ้าง แรงงาน หรือประกอบอาชีพอิสระเป็นอาชีพหลัก ดังนั้น จึงเห็นควรให้ผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มนี้ได้รับสิทธิตามมาตรการฯ ดังกล่าวด้วยเช่นกัน
กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว จึงเห็นสมควรเสนอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการฯ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง โดยขยายจำนวนผู้เข้าข่ายได้รับสิทธิของมาตรการฯ ให้ครอบคลุมทั่วถึงผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) จากเดิมจำนวน 9 ล้านคน เป็น 14 ล้านคน