เจาะงบการเงิน 3 รัฐวิสาหกิจการไฟฟ้า ปี 62 รวมรายได้กว่า 6.8 แสนล้าน กำไรสุทธิ 5.6 หมื่นล้าน ส่งรายได้ให้รัฐ 3.5 หมื่นล้าน - กฟน. รายได้รวม 9 เดือน 1.57 แสนล้าน กฟภ. รายได้รวม 6 เดือน 2.63 แสนล้าน ส่วน กฟผ. 4.26 แสนล้าน ก่อนกรณีปูดประเด็นดราม่าค่าไฟฟ้าแพงเกินจริงช่วงมาตรการทำงานที่บ้านเลี่ยงโควิด-19 ?
สำนักข่าวอิศรา เปิดรายงานข่าวชิ้นนี้ โดยระบุว่า กลายเป็นประเด็นดราม่าขึ้นมาทันที! ภายหลังนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ออกมาเปิดประเด็นกรณีได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนว่า มีคนจำนวนมากข้องใจเรื่องบิลเรียกเก็บค่าไฟฟ้ารอบบิลกลางเดือน เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา มียอดสูงผิดปกติ บางรายสูงกว่าเดิม 3 เท่า ของที่เคยใช้ แม้ประชาชนบางส่วนยอมรับว่าใช้ไฟฟ้ามากขึ้นจริง เนื่องจากอยู่บ้านตามมาตรการของรัฐ แต่ไม่น่าจะมากถึงระดับ 3 เท่า
เรื่องนี้คงต้องรอฟังคำอธิบายจากการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่จะชี้แจง รวมถึงฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป
แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) คือ 3 รัฐวิสาหกิจที่ติด ‘ท็อป 10’ ที่มีรายได้สูง และนำส่งรายได้แก่รัฐสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
เอาแค่เฉพาะปี 2562 นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภาพรวมในปี 2562 มีรัฐวิสาหกิจ 10 อันดับแรกที่นำส่งรายได้แก่รัฐ โดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อยู่ลำดับ 3 นำส่ง 18,924 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อยู่ลำดับ 5 นำส่ง 10,903 ล้านบาท และการไฟฟ้านครหลวง อยู่ลำดับ 9 นำส่ง 5,500 ล้านบาท
รวมรัฐวิสาหกิจทั้ง 3 แห่ง นำส่งรายได้ให้รัฐในปี 2562 ทั้งสิ้น 35,327 ล้านบาท แล้วรายได้ของ 3 รัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฯข้างต้นมีรายละเอียดอะไรบ้าง ?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบงบการเงินของรัฐวิสาหกิจ 3 แห่งดังกล่าวที่แจ้งต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในฐานะผู้สอบบัญชีภาครัฐ พบรายละเอียดดังนี้
การไฟฟ้านครหลวง แจ้งงบการเงินล่าสุดประจำงวด 9 เดือน (สิ้นสุด 30 ก.ย. 2562 สตง.ยังไม่ได้ตรวจสอบ แต่สอบทานแล้ว) พบว่า มีรายได้รวม 157,085,380,013 บาท ในส่วนนี้เป็นรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้า 153,804,908,506 บาท หรือกว่า 1.5 แสนล้านบาท
มีรายจ่ายรวม 148,728,436,084 บาท เป็นค่าซื้อพลังงานไฟฟ้า 132,309,270,338 บาท ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน 7,386,972,171 บาท และค่าตอบแทนผู้บริหาร 29,499,864 บาท กำไรสุทธิ 8,405,755,623 บาท หรือราว 8.4 พันล้านบาท
มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 230,125,170,458 บาท (ราว 2.3 แสนล้านบาท) เป็นสินทรัพย์หมุนเวียน 82,740,921,945 บาท ในส่วนนี้เป็นเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 26,799,238,955 บาท สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน 147,384,248,513 บาท ในส่วนนี้เป็นที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ 93,255,783,433 บาท
มีหนี้สินทั้งสิ้น 127,968,378,027 (ราว 1.2 แสนล้านบาท) ในส่วนนี้เป็นหนี้สินหมุนเวียน 4,778,372,801 บาท ในส่วนนี้มีเงินค้างนำส่งคลัง 2,350,000,000 บาท มีหนี้สินไม่หมุนเวียน 83,190,005,226 บาท เป็นหนี้สินจากเงินประกันการใช้ไฟฟ้า 17,048,400,484 บาท หนี้สินผลประโยชน์พนักงาน 8,327,140,657 บาท
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แจ้งงบการเงินล่าสุดประจำงวด 6 เดือน (สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2562 สตง.ยังไม่ได้ตรวจสอบ แต่สอบทานแล้ว) พบว่า มีรายได้รวม 263,526,851,965 บาท โดยเป็นรายได้จากการขายและการให้บริการ 262,652,747,925 บาท หรือกว่า 2.6 แสนล้านบาท
มีรายจ่ายรวม 250,796,249,306 บาท โดยเป็นค่าซื้อไฟฟ้า 220,041,452,341 บาท หรือราว 2.2 แสนล้านบาท ค่าใช้จ่ายผลประโยชน์ของพนักงาน 595,273,854 บาท ค่าตอบแทนผู้บริหาร 73,084,271 บาท กำไรสุทธิ 12,740,306,421 บาท
มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 423,310,181,099 บาท (ราว 4.2 แสนล้านบาท) ในส่วนนี้เป็นสินทรัพย์หมุนเวียน 108,733,265,121 บาท รายการที่น่าสนใจ มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 8,966,205,017 บาท ลูกหนี้การค้า 40,517,787,237 บาท รายได้ค้างรับ 3,091,367,220 บาท ส่วนสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน 314,576,915,978 บาท เป็นที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ 268,720,382,209 บาท
มีหนี้สินทั้งสิ้น 245,686,729,762 บาท (ราว 2.4 แสนล้านบาท) เป็นหนี้สินหมุนเวียน 77,596,035,694 บาท โดยมีเจ้าหนี้ทางการค้า 48,225,122,672 บาท ส่วนหนี้สินไม่หมุนเวียน 168,090,694,068 บาท เป็นเงินกู้ยืมระยะยาว 61,174,399,217 บาท ประมาณการหนี้สินคดีความ 256,343,606 บาท เงินประกันการใช้ไฟฟ้า 30,086,134,082 บาท
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แจ้งงบการเงินล่าสุดประจำงวด 9 เดือน (สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2562 สตง.ยังไม่ได้ตรวจสอบ แต่สอบทานแล้ว) พบว่า มีรายได้รวม 426,168,190,035 บาท โดยเป็นรายได้จากการขายไฟฟ้า 424,037,717,659 บาท (ราว 4.2 แสนล้านบาท)
มีรายจ่ายแบ่งเป็น ต้นทุนขายไฟฟ้า 364,207,603,137 บาท ต้นทุนการขายสินค้าและบริการอื่น 1,077,701,251 บาท กำไรสุทธิ 35,561,520,377 บาท หรือกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท
มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 1,020,448,417,067 บาท (ราว 1 ล้านล้านบาท) เป็นสินทรัพย์หมุนเวียน 196,367,629,341 บาท โดยมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 84,420,506,095 บาท ส่วนสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน 824,080,787,726 บาท ส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ตามสัญญาเช่าการเงิน-โรงไฟฟ้า 283,556,369,727 บาท ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ 307,944,449,064 บาท งานระหว่างก่อสร้าง 102,759,184,631 บาท
มีหนี้สินทั้งสิ้น 547,457,627,635 บาท (ราว 5.4 แสนล้านบาท) เป็นหนี้สินหมุนเวียน 140,461,980,968 บาท ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหนี้การค้า-กิจการอื่น 61,924,183,586 บาท เป็นต้น ส่วนหนี้สินไม่หมุนเวียน 406,995,646,667 บาท ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ยืมระยะยาว 101,636,386,796 บาท และหนี้สินตามสัญญาเช่าการเงิน-โรงไฟฟ้า 232,749,305,229 บาท
สำหรับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ลงทุนถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์หลักๆ อย่างน้อย 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าจำกัด (มหาชน) หรือ EGCO (ถือหุ้นใหญ่สุด 25.41%) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH (ถือหุ้นใหญ่สุด 45%)
ผลประกอบการของ EGCO แจ้งงบการเงินปี 2562 มีรายได้รวม 47,460 ล้านบาท กำไรสุทธิ 13,059.24 ล้านบาท ส่วน RATCH แจ้งงบการเงินปี 2562 มีรายได้รวม 43,220.08 ล้านบาท กำไรสุทธิ 5,963.28 ล้านบาท
เบ็ดเสร็จรวมรายได้ของ กฟน. กฟภ. และ กฟผ. ในช่วงปี 2562 อย่างน้อย 689,695,042,000 บาท หรือประมาณ 6.8 แสนล้านบาท รวมกำไรสุทธิอย่างน้อย 56,707,582,421 บาท หรือกว่า 5.6 หมื่นล้านบาท
ทั้งหมดคือภาพรวมในด้านการเงินเกี่ยวกับการไฟฟ้าฯ ที่เป็นรัฐวิสาหกิจในประเทศไทย 3 แห่ง ได้แก่ กฟน. กฟภ. และ กฟผ. ส่วนประเด็นดราม่าเรื่องค่าไฟฟ้าแพงกว่าปกติจนมีการร้องเรียนเกิดขึ้นนั้น คงต้องรอฟังคำชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องต่อไป
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา /www.isranews.org/article/isranews-scoop/87826-isranews-13.html