นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยหลังการประชุมการบริหารจัดการวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ยาสำหรับโรคเรื้อรังในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ร่วมกับเครือข่ายด้านยา ในช่วงเดือนที่ผ่านมา โรงพยาบาลมียอดการจ่ายยาให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังสูงกว่าปกติ สองถึงสามเท่า ส่วนหนึ่งมาจากการจ่ายยาโรคเรื้อรังในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ให้ผู้ป่วยคราวละสามถึงหกเดือน ประกอบกับมาตรการปิดประเทศของบางประเทศที่ผลิตวัตถุดิบและยาสำเร็จรูป เช่น จีน อินเดีย และยุโรป ส่งผลให้การจัดส่งทั้งวัตถุดิบและยาสำเร็จรูปเกิดความล่าช้า อาจก่อให้เกิดการขาดแคลนยาเหล่านี้ในอนาคต เช่น ยาแอมโลดิพีนสำหรับลดความดันโลหิตสูง ยาเมทฟอร์มินสำหรับลดน้ำตาลในเลือด และยาซิมวาสแตตินสำหรับลดไขมันในเลือดด้านองค์การ เภสัชกรรมเสนอเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีกร้อยละ 50 เพื่อให้โรงพยาบาลมั่นใจได้ว่าจะได้รับยาทันตามยอดการสั่งซื้อ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการภาคเอกชน นำโดยสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน ได้ขานรับนโยบายรัฐ พร้อมเสริมกำลังการผลิตยาโรคเรื้อรังให้เพียงพอต่อการสั่งซื้อของโรงพยาบาลเพื่อให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงยาได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ เพื่อให้การจัดการกระจายยาได้เพียงพอและสอดคล้องกับการใช้ยาของโรงพยาบาลทั่วประเทศจึงให้กองบริหารการสาธารณสุข (กบรส.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำรวจยอดการสั่งซื้อยาของแต่ละโรงพยาบาลรัฐและวางแผนการจัดซื้อยาร่วมกับองค์การเภสัชกรรม และให้แต่ละโรงพยาบาลพิจารณาบริหารจัดการจ่ายยาแก่ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง คราวละ 2 เดือนหรือตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ในช่วงดังกล่าว และเพื่อให้มียาเพียงพอสำหรับการใช้ในโรงพยาบาลในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 หน่วยงานของรัฐจำเป็นต้องจัดซื้อยาจากผู้ผลิตยารายอื่น ๆ ด้วย ที่ประชุมจึงให้หารือกรมบัญชีกลางในการผ่อนปรนกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ. 2563 หมวด 5 ข้อ 17 เป็นการชั่วคราว
เลขาธิการ อย. กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาขอให้ประชาชนมั่นใจต่อระบบบริหารจัดการวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ยาของกระทรวงสาธารณสุขในปัจจุบัน ว่ามีความพร้อมรองรับการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และจะไม่มีปัญหาการขาดแคลนยาโรคเรื้อรังอย่างแน่นอน