นางเข็มเพชร เลนะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์ที่มีการระบาดของโควิด-19 นอกจากมาตรการรัฐในการป้องกันและควบคุม ชุมชน หมู่บ้านมีบทบาทสำคัญในการรับมือและสกัดการแพร่ระบาด สสส. และภาคีเครือข่าย ส่งเสริมการทำงานชุมชนระดับหมู่บ้านและเครือข่ายในพื้นที่ทำงานภายใต้ “โครงการชุมชนน่าอยู่” เกิดเป็นแนวทางการสนับสนุนกลไกสภาผู้นำชุมชนในการป้องกันและรับมือการระบาดของโควิด-19 ทั่วทุกภูมิภาค กำหนดมาตรการหรือแนวทางจัดการเพื่อป้องกันและรับมือกับสถานการณ์ ลดผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนทั่วไป มีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าเดิมได้รวดเร็วที่สุด รวมถึงการเตรียมพร้อมดูแลตนเอง ลดผลกระทบเมื่อมีผู้ติดเชื้อ ผ่านการสื่อสารตามบริบทของชุมชนที่เข้าใจง่าย ถูกต้อง และแม่นยำ
นายสุวิทย์ หมาดอะดำ หน่วยจัดการชุมชนน่าอยู่ ประธานสภาผู้นำชุมชนชายแดนใต้ กล่าวว่า ชุมชนชายแดนใต้มีแผนการจัดการ คือ 1. จัดทีมรับมือ Covid-19 ได้แก่ ผู้นำศาสนา เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้นำท้องถิ่น และ อสม. 2. รวบรวมข้อมูลคนในชุมชน ที่พัก และอาหาร 3. กำหนดกติการ่วมการให้ข้อมูล/ไม่ออกนอกบ้าน/รักษาระยะห่าง/เข้า-ออกชุมชน/ตรวจสุขภาพ 4. สร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านเสียงตามสายจากมัสยิด ไลน์กลุ่มชุมชน 5. ให้ชุมชนซื้อหรือผลิตหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ 6. ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐในการรับ-ส่งข้อมูล พร้อมติดตามผู้ป่วยที่กลับเข้ามาในชุมชน และ 7. กรณีที่มีภาวะวิกฤตยาวนาน มีการจัดตั้งกองทุนรับมือฟื้นฟูภัยพิบัติของชุมชน เพื่อความมั่นคงทางอาหารของคนในชุมชน
นายสะรี มะรอแม ประธานสภาผู้นำชุมชนบ้านพอเหมาะ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี กล่าวว่า หนึ่งในผู้เสียชีวิตเป็นชาวปัตตานี ทำให้คณะทำงานแก้ไขปัญหาโควิด 19 มีมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น ร่วมกันเฝ้าระวัง และทำความเข้าใจกับคนในชุมชนตามมาตรการของรัฐอย่างเคร่งครัด โดยมีการประชุมกำหนดแนวทางปฏิบัติ หรือฮูกุมปากัดของชุมชน 1. คัดกรองผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง กักตัว 14 วัน 2. ใปฏิบัติตามประกาศของจุฬาราชมนตรี งด ละหมาด วันศุกร์ ตั้งแต่วันที่ประกาศโดยให้ละหมาดซุหรีที่บ้านของตนเอง ตามเวลาของซุหรี 3. ป้องกันการแพร่ระบาด โดยการแจกหน้ากากผ้าให้ใช้ทุกคนเมื่อออกจากบ้าน 4. งดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น บรรยายธรรม และ 5. งดกิจกรรมรื่นเริง เช่น มงคลสมรส งานเข้าสุนัตบุตร