นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2562 ที่เสนอแนะให้กระทรวงพลังงานปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-2580 หรือ PDP2018 เพื่อให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า 51% ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 56 วรรคสอง โดยให้พิจารณาตามข้อเสนอแนะภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผล และดำเนินการให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 51% ภายใน 10 ปี นับจากปี 2562 นั้น การดำเนินการดังกล่าวมีความล่าช้ามาก เพราะปัจจุบันไทยยังมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งประเทศสูงถึง 45,595 เมกะวัต์ โดยที่เป็นสัดส่วนที่ กฟผ. ผลิตได้เพียง 15,424 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 33.83 % เท่านั้น ส่วนเอกชนมีปริมาณการผลิตมากถึง 30,171 เมกะวัตต์ หรือ 66.17 % ทำให้มีไฟฟ้าสำรองมากเกินจำเป็น
ซึ่งเป็นเหตุให้รัฐบาลผลักภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนที่สำรองอยู่เป็นจำนวนมาก มาให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกครัวเรือนต้องร่วมกันจ่ายผ่านค่า FT นั่นเอง ซึ่งหากไม่สามารถลดสัดส่วนลงมาได้ สัดส่วนที่เกินไปกว่า 18% ดังกล่าวลงมาได้ รัฐบาลต้องไม่ผลักภาระมาให้ประชาชนต้องร่วมกันจ่าย แต่ควรที่จะต้องให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้บริหาร สนพ. กรรมการ กพช. และคณะกรรมการ กกพ. ทุกคนที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 (วันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560) เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันเป็นผู้รับผิดชอบแทน"
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การที่ยังคงอนุมัติอนุญาตให้เอกชนผลิตไฟฟ้าจนเกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้น เชื่อว่าเป็นเจตนาที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนโดยชัดแจ้ง ซึ่งอาจเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งกรณีดังกล่าว แม้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัยออกมาว่าเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ 2560 ม.56 วรรคสอง มานานแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นความคืบหน้าแต่อย่างใด ดังนั้น ควรที่จะต้องเอาผิดบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ซึ่งทางที่ดีที่สุดคือ การรื้อสัญญาโรงไฟฟ้าเอกชนทั้งหมดในส่วนที่ดำเนินการไปแล้วนำมาเกลี่ยให้ไม่เกิน 49% ตามรัฐธรรมนูญจึงจะชอบ
"หรือการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐไม่น้อยกว่า 51% นั้นอาจทำได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่นำบริษัทลูกของ กฟผ. อาทิ RATCH และ GPSC และ ปตท. กลับมามีสัดส่วนของหุ้นเกิน 51% แค่นี้ก็จะทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจาก 33.83 % เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 51% ได้ไม่ยากเลย โดยไม่ต้องไปรอให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆ เข้ามาในระบบ ที่จะทำให้มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นช่องทางในการผลักภาระค่าใช้จ่ายมาให้ประชาชนผ่านค่า FT ในทุกๆ บิลค่าไฟนั่นเอง"นายศรีสุรรณ กล่าว