ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระมัดระวังพายุฤดูร้อนในช่วงนี้ ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่โล่งแจ้งหรืออยู่ใต้ต้นไม้สูงใหญ่ และระวังอุบัติเหตุจราจร
26 เม.ย. 2563

 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระวังพายุฤดูร้อนในช่วงนี้ และในบางพื้นที่อาจมีลูกเห็บตก พร้อมแนะควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใต้ต้นไม้สูงใหญ่ สิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคง หรือป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง และไม่ควรอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง อาจถูกฟ้าผ่าได้ หากมีความจำเป็นต้องขับขี่ยานพาหนะ ควรเพิ่มความระมัดระวัง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ

 วันนี้ (26 เมษายน 2563) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงนี้เกือบทั่วทุกภาคของประเทศไทย จะมีอากาศร้อน และจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะเป็นพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมถึงฟ้าผ่า และลูกเห็บตกบางพื้นที่ นั้น กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนระมัดระวังขณะเกิดฝนตกและลมกระโชกแรง ไม่ควรอยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่ เสาไฟฟ้า และป้ายโฆษณาต่างๆ เพราะอาจเกิดการหักโค่นหรือหล่นทับ ทำให้ได้รับบาดเจ็บหรืออาจเสียชีวิต และไม่ควรอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง ซึ่งอาจเสี่ยงโดนฟ้าผ่า หากประชาชนขับขี่ยานพาหนะอยู่ ควรเพิ่มความระมัดระวังด้วยการลดความเร็วลงหรือหยุดรถในที่ปลอดภัย ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ช่วงที่ฝนเริ่มตกใน 10 นาทีแรก เป็นช่วงที่รถมีโอกาสลื่นไถลมากที่สุด เพราะน้ำฝนจะชะล้างคราบดินและฝุ่นละอองที่ติดอยู่บนพื้นถนน ซึ่งมีลักษณะคล้ายการละเลงโคลน ดังนั้น การลดความเร็วของรถ จึงเป็นการเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

 การเตรียมความพร้อมรับมือกับลมพายุ นั้น หากประชาชนอยู่ในบริเวณพื้นที่เสี่ยง ควรรีบเคลื่อนย้ายไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยที่มีความแข็งแรง นอกจากนี้ ควรจัดเตรียมไฟฉาย ตลอดจนยารักษาโรคให้พร้อม โดยในช่วง ฝนฟ้าคะนองลมกระโชกแรง ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ไม่อยู่ใกล้ต้นไม้สูง เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา ควรหลบในตัวอาคารที่มีความมั่นคง ไม่ควรใช้โทรศัพท์ และหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดในขณะที่ฟ้าร้องฟ้าผ่า ทั้งนี้ ขอแนะนำประชาชนป้องกันอันตรายจากการถูกฟ้าผ่า ดังนี้ 1.ห้ามอยู่ใกล้หรือใช้อุปกรณ์ที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า เช่น เครื่องมือการเกษตร และโทรศัพท์มืถือ เพราะอุปกรณ์เหล่านี้มีส่วนประกอบที่เป็นแผ่นโลหะ ซึ่งเป็นสื่อนำไฟฟ้า 2.ควรหลบในอาคารที่ติดตั้งสายล่อฟ้า จะช่วยป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าได้ และไม่ควรใช้โทรศัพท์ เล่นอินเตอร์เน็ต หรืออยู่ใกล้ประตูหน้าต่างที่มีส่วนประกอบเป็นโลหะในขณะฟ้าร้อง ฟ้าผ่า 3.หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เพราะกระแสไฟจากฟ้าผ่าอาจไหลผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหาย และ 4.ขณะขับรถหากมีพายุฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ควรหยุดรถในที่ปลอดภัย และรอจนกว่าลมพายุจะสงบ ควรปิดกระจกทุกบาน และเปิดไฟหน้ารถ หากฟ้าผ่าลงรถควรตั้งสติ ไม่ควรออกจากรถโดยเด็ดขาด เพราะกระแสไฟฟ้าที่ไหลตามผิวโลหะของตัวถังรถจะไหลลงสู่พื้นดิน หากออกนอกรถจะมีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้าผ่าสูง ที่สำคัญอย่าสัมผัสส่วนที่เป็นโลหะ

 นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับการช่วยเหลือผู้ถูกฟ้าผ่าและผู้ประสบอุบัติเหตุ ต้องช่วยอย่างรวดเร็ว โดยประเมินสถานการณ์ ความปลอดภัยของที่เกิดเหตุ และโทรขอความช่วยเหลือจากศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน  เบอร์ 1669 พร้อมแจ้งข้อมูลผู้ประสบอุบัติเหตุ และสถานที่เกิดเหตุ ประเมินการหายใจและการเต้นของหัวใจ ถ้าไม่หายใจและหัวใจหยุดเต้น ให้รีบช่วยชีวิตทันที โดยการกดหน้าอกในตำแหน่งกึ่งกลางหน้าอก (กึ่งกลางหัวนมทั้ง 2 ข้าง) ให้ได้ประมาณ 100 ครั้งต่อนาที ลึกลงไปอย่างน้อย 1 ใน 3 ของความหนาหน้าอก จนกว่าหัวใจจะเต้น หรือสามารถคลำชีพจรได้ หรือจนกว่าจะมีหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินมาช่วย แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...