นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรม วิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวถึง การตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากทางน้ำลายว่า ในการตรวจในห้องปฏิบัติการ โดยดูจากระยะเวลาที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อ 0-7 วัน ซึ่งเป็นระยะฝักตัวของโรค จะใช้การตรวจหาเชื้อแบบ แบบมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโรคคือ RT-PCR ที่ใช้เวลา 3 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีวิธีการตรวจแบบภูมิคุ้มกัน (การตรวจแอนติบอดีต่อเชื้อ SARS-CoV-2) ซึ่งไม่ใช้การตรวจหลักในการวินิจฉัยผู้ป่วย และการสอบสวนคัดกรองโรค ซึ่งในผู้ป่วยที่มีอาการ 1-7 วัน พบว่าในการนำเชื้อมาตรวจในคนไข้ 34 ราย พบ Sensitivity 17.65% ส่วนหลังแสดงอาการ 8 -14 วัน ซึ่งตรวจคนไข้ 33 ราย พบ Sensitivity เพียง 42.42% แสดงให้เห็นว่าการใช้การตรวจภูมิกันอาจจะวินิจฉัยโรคได้ไม่ดีนัก ใน 2 ระยะดังกล่าว เพราะส่วนใหญ่ผลยังเป็นลบ แต่สำหรับ คนไข้ 20 ราย หลังแสดงอาการ 2 สัปดาห์ พบผลการตรวจเป็นบวก Sensitivity 85.00% ซึ่งเป็นการพบเชื้อค่อนข้างช้าและมีผลต่อการรักษา โดยในการตรวจหาแบบภูมิคุ้มกันถึงจะมีวิธีการตรวจง่าย โดยนำเลือดไปใส่แผ่น(คล้ายกับที่ตรวจครรภ์) แต่ในการแปลผลนั้นต้องใช้ความระมัดระวัง และต้องแปลผลโดยแพทย์หรือนักเทคนิคการแพทย์ ไม่สามารถซื้อตามที่ลงขายออนไลน์มาทำเองได้ และผิดกฎหมายด้วย
สำหรับการตรวจในห้องปฏิบัติการแบ่งกลุ่มการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็น 3 คือ กลุ่ม 1 กลุ่มผู้ที่มีอาการสงสัย โดยจะต้องใช้วิธีการตรวจ RT-PCR เพราะมีโอกาสที่จะตรวจพบเชื้อสูงส่วนในกลุ่มที่ 2 การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก เพื่อค้นหาผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่อาศัยอยู่ในชุมชน และกลุ่มที่ 3 กลุ่มที่เฝ้าระวังในสถานที่แออัดและอาชีพ ซึ่งในกลุ่มที่ 2-3 จะต้องใช้วิธีการตรวจที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อย่างการตรวจด้วยน้ำลาย หรือ RT-LAMP ซึ่งเป็นเทคนิคค่อนข้างง่ายกว่า RT-PCR แต่มีหลักการตรวจหาเชื่อไวรัสจากสารพันธุกรรมและระยะเวลาเหมือนกัน มีคุณภาพ เพียงตัวอย่างการเก็บเชื้อไม่เหมือนกัน
ทั้งนี้เป็นวิธีการตรวจใหม่ที่ต้องพัฒนาต่อไป เพราะในอนาคตโรงพยาบาลในชุมชนก็สามารถตรวจหาเชื้อเองได้ง่ายไม่ต้องใช้เครื่องมือเยอะ แต่เจ้าหน้าที่ทางชุมชนหรือคนในชุมชนจะต้องได้รับความรู้ในส่วนของการเก็บตัวอย่างน้ำลายอย่างถูกต้อง โดยมีการทำอย่างต่อเนื่องในกรุงเทพฯและภูเก็ต และจะมีการลงพื้นที่ในวันจันทร์ที่ 27เม.ย.นี้ ที่จ.สมุทรสาคร ส่วนจังหวัดอื่นๆ ต้องรอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดได้ระบุรายละเอียดพื้นที่ในการตรวจต่อไป” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว