นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า การบริหารจัดการวงเงินเพื่อใช้ช่วยเหลือค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือนเป็นเวลา 3 เดือน ในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค. เพื่อบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือนเพิ่มเติมนั้น อาจจะใช้วงเงินไม่ถึงที่เคยประเมินไว้ 23,688 ล้านบาท เนื่องจากมีบางส่วนที่ประเมินการช่วยเหลือซ้ำซ้อนกับมาตรการช่วยเหลือก่อนหน้านี้ โดยวงเงินที่จะเข้ามาช่วยดูแลนั้นจะมาจากเงินเรียกคืนฐานะการเงิน และการลงทุนของ 3 การไฟฟ้าที่ไม่เป็นไปตามแผนการลงทุนที่เหมาะสม หรือการลงทุนในโครงการที่ไม่มีประสิทธิภาพ (Crawl Back) ซึ่งจะประเมินบทปรับการลงทุนของการไฟฟ้าหลังจากสิ้นปีบัญชี เป็นประจำทุกปี
สำหรับวงเงินดังกล่าวคาดว่าจะใช้วงเงินที่มีในช่วงปี 62-63 มาดำเนินการ แต่อาจจะไม่เพียงพอ จึงได้มอบหมายให้ 3 การไฟฟ้าไปประเมินสภาพคล่องของแต่ละองค์กรว่าเป็นอย่างไร และให้กลับมาประชุมร่วมเพื่อสรุปในสัปดาห์นี้ โดยให้พิจารณาว่าจะได้รับผลกระทบหรือไม่ หากต้องมีการจ่ายเงินส่วนนี้ล่วงหน้า เพราะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การใช้ไฟฟ้าปีนี้หดตัว กระทบต่อรายได้ของการจำหน่ายไฟฟ้า โดยกระทรวงพลังงานประเมินว่าการใช้ไฟฟ้าปีนี้ อาจะลดลงจากคาดการณ์ถึง 2 พันล้านหน่วย อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 การไฟฟ้า พร้อมที่จะดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือภาคประชาชน
"เบื้องต้นประเมินว่า วงเงินบริหารจัดการปี 62-63 อาจจะไม่เพียงพอ จึงให้ 3 การไฟฟ้าไปทำตัวเลขสภาพคล่อง โดยรวม และหากไม่พอจริง ๆ ก็อาจจะให้การไฟฟ้าบางแห่ง อาจจะต้องจ่ายการประเมินฐานะการเงินที่เรียกคืน ในปี 64 มาก่อน เพราะโควิด-19 กระทบภาคประชาชนอย่างหนัก การใช้ไฟฟ้าก็ลดลงด้วยก็ต้องดูภาพรวมทั้งหมด"นายคมกฤช กล่าว
นอกจากนี้ สำนักงาน กกพ.ได้รายงานกระทรวงพลังงาน โดยได้จัดทำตัวเลขเงินบริหารจัดการค่าไฟฟ้าจนถึงสิ้นเดือน ส.ค.63 พบว่าเมื่อหักมาตรการบรรเทาผลกระทบโควิด-19 ด้วยส่วนลดค่าไฟฟ้า 3% เป็นเวลา 3 เดือน (มี.ค.-พ.ค.) รวม 5,610 ล้านบาทไปแล้ว จะมีเงินคงเหลือประมาณ 9,159 ล้านบาท และเมื่อรวมเงินเรียกคืนฐานะการเงินปี 61 แล้วจะมีเงินคงเหลือรวม 12,492 ล้านบาท ซึ่งหากหักการประเมินลดค่าไฟฟ้าตามมาตรการเพิ่มเติม ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบเมื่อวันที่ 21 เม.ย. วงเงินจำนวน 23,668 ล้านบาทแล้ว ยอดวงเงินที่ต้องการสนับสนุนจากเงินบริหารจัดการที่มา 3 การไฟฟ้าจะมีราว 11,175 ล้านบาท