สนพ. รายงานราคาน้ำมันในตลาดโลกทรงตัวระดับต่ำ ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับอุปทานล้นตลาด ขณะที่กลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) ประกาศพร้อมเดินหน้าลดกำลังการผลิต ในเดือน พ.ค. นี้
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยว่า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกในช่วงวันที่ 20 -26 เมษายน 2563 สรุปความประเด็นสำคัญ ดังนี้
ราคาน้ำมันโลก: ราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบดูไบ ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ $17.60 และ $3.23 ต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว $3.18 และ $16.88 ต่อบาร์เรล ตามลำดับ
• ราคา WTI ปรับตัวลดลงติดลบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ หลังได้รับแรงกดดันจากการเทขายทำกำไรของนักลงทุนก่อนที่สัญญาเดือน พ.ค. จะสิ้นสุดวันที่ 21 เม.ย. 63 และความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงอย่างมากจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ตลาดกังวลว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ จะเต็มในเร็วนี้ ซึ่งอาจทำให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบต้องจ่ายเงินเพื่อระบายน้ำมันดิบแทน อย่างไรก็ตามราคา WTI สัญญาเดือน มิ.ย. 63 ยังคงปิดตลาดเป็นบวก
• บริษัท Rystad Energy ปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันในปี 63 ลง 10% สู่ระดับ 89.2 ล้านบาร์เรล/วัน จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง
• แม้ว่ากลุ่มโอเปกพลัส จะบรรลุข้อตกลงการปรับลดการผลิตน้ำมันดิบในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างมากจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
• สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด 17 เม.ย.63 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 15 ล้านบาร์เรล ขณะที่ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว 1 ล้านบาร์เรล ต่ำกว่าคาดการณ์
ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเซีย
น้ำมันเบนซิน: ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และ 92 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ $19.30 และ $17.78 ต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว $0.68 และ $1.27 ต่อบาร์เรล ตามลำดับ
• รายงานปริมาณสำรองเบนซินเชิงพาณิชย์ทั่วโลกอยู่ในระดับสูง จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวลดลงจากการล็อคดาวน์ต่อเนื่องในหลายประเทศ โดย (1) Insight Global รายงานปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ที่ Amsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) ในยุโรป สัปดาห์สิ้นสุด 23 เม.ย. 63 เพิ่มขึ้น 0.28 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ 10.15 ล้านบาร์เรล (2) EIA รายงานปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 17 เม.ย. 63 เพิ่มขึ้น 1.0 ล้านบาร์เรล และ (3) Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 18 เม.ย. 63 เพิ่มขึ้น 0.26 ล้านบาร์เรล
• โรงกลั่นของ Sinopec ในจีนมีแผนนำน้ำมันดิบเข้ากลั่นในเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น และกลับมาเดินเครื่องหน่วยGasoline Hydrotreater อีกครั้งหลังหยุดดำเนินการตั้งแต่ ก.พ. ที่ผ่านมา
น้ำมันดีเซล: ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ $27.24 ต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ ที่แล้ว $5.72 ต่อบาร์เรล
• ตลาดน้ำมันดีเซลในภูมิภาคเอเชียยังคงซบเซา หลังอินเดียประกาศขยายเวลาล็อคดาวน์จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 14 เม.ย. 63 ออกไปจนถึงวันที่ 3 พ.ค. 63
• ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลถูกกดดันจากนโยบายปิดประเทศในภูมิภาคเอเชีย ประกอบกับปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังที่ปรับตัวสูงขึ้นในตะวันออกกลาง
• International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณการส่งออกจากสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 22 เม.ย. 63 เพิ่มขึ้น 148% WoW อยู่ที่ 3.4 ล้านบาร์เรล
• EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 17 เม.ย. 63 เพิ่มขึ้น 7.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 136.9 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 เดือน
ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.21 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 32.6315 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ต้นทุนน้ำมันเบนซินลดลง 0.16 บาท/ลิตร ในขณะที่ต้นทุนน้ำมันดีเซลลดลง 1.22 บาท/ลิตร ทำให้ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล และน้ำมันดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.11 บาท/ลิตร และค่าการกลั่น เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1.25 บาท/ลิตร
สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
ณ วันที่ 26 เม.ย. 63 กองทุนน้ำมันมีสินทรัพย์รวม 57,341 ล้านบาท หนี้สินกองทุน 21,568 ล้านบาท
ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิ 35,773 ล้านบาท แยกเป็น
บัญชีน้ำมัน 41,674 ล้านบาท
บัญชี LPG -5,901 ล้านบาท
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ เนื่องจากตลาดยังกังวลกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังความต้องการใช้น้ำมันตลาดโลกชะลอตัวลงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กดดันความต้องการใช้น้ำมัน อย่างไรก็ตามเพื่อสร้างเสถียรภาพราคาน้ำมันและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาด กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและพันธมิตรหรือกลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) ประกาศพร้อมร่วมเดินหน้าลดกำลังการผลิต โดยจะเริ่มขึ้นในเดือน พ.ค. 63 ตามข้อตกลงในการประชุมฉุกเฉินในช่วง 12 เม.ย. 63 ที่ผ่านมา ทั้งยังเตรียมประชุมฉุกเฉินอีกครั้งในช่วงต้นเดือน พ.ค. อย่างไรก็ดี ซาอุฯ เริ่มลดปริมาณการผลิตน้ำมันลงสู่เป้าหมายการผลิตตามข้อตกลง OPEC+ ที่ระดับ 8.5 ล้านบาร์เรล/วัน เช่นเดียวกับรัสเซียที่ประกาศพร้อมลดกำลังการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบลงตามข้อตกลงเช่นกัน นอกจากนั้นตลาดได้รับปัจจัยบวกจากการที่สหรัฐฯ ประกาศแนวทางทยอยเปิดเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ