พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ในวันนี้ เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 มากจนต้องหาแนวทางเพื่อเพิ่มสภาพคล่องเป็นมาตรการเร่งด่วน
แหล่งข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รายละเอียดของแผนฟื้นฟูที่นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย เสนอในที่ประชุม คนร.วันนี้ จะเสนอทั้งแผนดำเนินการทั้งระยะสั้นและระยะยาว
สำหรับแผนระยะสั้นจะเป็นการแก้ปัญหาสภพคล่องทางธุรกิจ โดยที่ผ่านมามีการเสนอกรอบวงเงินกู้เพื่อใช้เสริมสภาพคล่องวงเงินกว่า 7 หมื่นล้านบาท ถือเป็นวงเงินที่สูงเกินความจำเป็น เพราะหากประเมินรายจ่ายในส่วนของต้นทุนที่เหลือเพียงการบริหารจัดการ เงินเดือนพนักงาน คาดว่าการบินไทยจำเป็นต้องใช้เงินประมาณ 3 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
"วงเงินตามแผนฟื้นฟูที่จะเสนอขออนุมัติครั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าสูงเกินความจำเป็น เพราะการบินไทยยังมีวงเงินหุ้นกู้ที่เคยขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นไปเมื่อปี 2561 โดยที่ผ่านมาจัดใช้วงเงินกู้ส่วนนั้นไปเพียง 3 หมื่นล้านบาท ยังคงเหลืออีก 5 หมื่นล้านบาท”
ส่วนแผนระยะยาวในการปรับโครงสร้างองค์กร ที่มีกระแสข่าวว่าแผนฟื้นฟูการบินไทยฉบับนี้ จะลดบทบาทของบริษัทการบินไทย และผลักดันให้บริษัทไทยสมายล์มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในอนาคตอาจจะเป็นการใช้ชื่อบริษัทไทยสมายล์ ในการยื่นเรื่องทำธุรกรรมทางการเงิน เนื่องจากบริษัทการบินไทยไม่มีเครดิตมากพอที่จะกู้เงินจำนวนมาก
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า รูปแบบของแผนฟื้นฟูการบินไทย ตามที่ทีมที่ปรึกษานำมาเสนอในการประชุมเมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ คือการปรับลดบทบาทของการบินไทยลง โดยการเสนอให้นำ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด มีบทบาททางธุรกรรมการเงิน และดำเนินธุรกิจการบินให้เพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งเสนอจัดตั้ง 3 บริษัทลูก ครัวการบิน ขนส่งสินค้า และศูนย์ซ่อมอากาศยาน เพื่อลดบทบาทความรับผิดชอบของการบินไทย และเพิ่มโอกาสทางการลงทุน
สำหรับวงเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจถึงเดือน ธ.ค.2563 โดยรูปแบบของการกู้เงินจะเสนอ คนร. 2 แนวทาง คือ 1.การกู้เงิน โดยขอให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งกระทรวงการคลัง จะค้ำประกันให้ในวงเงิน 4-5 หมื่นล้านบาท
2.ออกตราสารหนี้ โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันให้เช่นเดียวกัน แต่เบื้องต้นที่ปรึกษาประเมินว่า แนวทางของการออกตราสารหนี้ อาจไม่ได้ถูกรับเลือกจาก คนร.เนื่องจากเป็นแนวทางเลือกที่ต้องใช้เวลาดำเนินการ อีกทั้งการออกตราสารหนี้ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเช่นนี้ อาจไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน ตลาดทุนไม่เอื้อต่อการออกหุ้นกู้ หรือตราสารหนี้