ในยุคที่ไฟฟ้าก็ต้องผลิต โควิดก็ต้องกลัวการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้แก่ประชาชนจึงได้จัดสรรพื้นที่ Safe Zoneแยกการดำรงชีวิตเจ้าหน้าที่ควบคุมการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า เขื่อน และศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองหลัก ในการทำงานออกจากบุคคลภายนอก พร้อมมีมาตรการคุมเข้มคัดกรองอุณภูมิร่างกายก่อนเริ่มงานทุกวัน สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาทำงาน รวมถึงการทำความสะอาดมือ ฆ่าเชื้อโรคก่อนเข้าพื้นที่ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า‘มดงาน’ ผู้อยู่เบื้องหลังความมั่นคงทางพลังงานที่กระจายกำลังกันทำหน้าที่อยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศเหล่านี้ จะปลอด COVID-19ผลิตไฟฟ้าได้เต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมง
ลงใต้สัมผัส 16 ชีวิตมดงานควบคุมการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี กับภารกิจใน Safe Zone ที่เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว นายจิรายุ สมกำลัง ช่างระดับ 5 กฟผ. เขื่อนรัชชประภา เปิดใจว่า แต่ละคนต้องจากบ้าน จากครอบครัว เข้ามาอยู่ในพื้นที่ Safe Zoneภายในเขื่อนที่แยกไว้ ซึ่งห้ามไม่ให้บุคคลอื่นเข้าโดยเด็ดขาดเพื่อทำภารกิจสำคัญควบคุมการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าและดูแลอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อมใช้งานโดยในแต่ละวันของทุกคนที่นี่ นอกจากหน้าที่หลักต้องเต็มที่ ไม่มีบกพร่องแล้ว ยังมีหน้าที่เสริมพ่วงมาพร้อมอุปกรณ์อย่างเช่น ไม้ถู ไม้กวาด และสายยางรดน้ำต้นไม้ ที่ต้องช่วยกันคนละไม้ คนละมือทำความสะอาดพื้นที่ในช่วงเวลานี้กันเองไปก่อนอีกด้วย
“ไม่ว่าจะคิดถึงครอบครัวมากแค่ไหนแต่หน้าที่ผลิตไฟฟ้าในช่วงสถานการณ์COVID-19เป็นความรับผิดชอบของพวกเราทุกคน"
กินอิ่ม นอนอุ่น เตียงนุ่ม คงต้องห่างกันซักพัก เพราะชีวิตใน Safe Zone ของมดงานควบคุมการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ จ.นนทบุรี พิเศษกว่าที่อื่นตรงประสบการณ์การนอน นายไกรศร สิริธีรธำรง หัวหน้าแผนกเดินเครื่องกะ 1ทำหน้าที่ควบคุมและดูแลการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 เล่าว่าด้วยภายในโรงไฟฟ้าแห่งนี้ไม่มีอาคารที่พัก เต็นท์สนามและห้องทำงานที่ไม่ได้ใช้จึงถูกเปลี่ยนให้เป็นที่พักชั่วคราวให้นายช่าง 10 คน นอนพักเอาแรง พร้อมสู้ภารกิจผลิตไฟฟ้าทั้งกลางวันและกลางคืน กะละ 12 ชั่วโมงต่อวัน จากปกติ 8 ชั่วโมงต่อวัน ต่อเนื่อง 4 วันและให้สลับพัก “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” 4 วัน โดยมีอีกทีมรับไม้ดูแลการผลิตไฟฟ้าต่อ
“แน่นอนว่างานหนักขึ้นและชีวิตความเป็นอยู่ไม่สะดวกสบายนัก แต่ทุกคนพร้อมสู้กับงานเต็มที่”
สายลุย คลุกฝุ่นต้องยกให้มดงานเหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง นายอาณัติ บุญนำมา หัวหน้าแผนกปฏิบัติการขนส่งวัสดุกะ 3เล่าว่าเพื่อให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะสามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าหล่อเลี้ยงพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างเพียงพอนอกจากเจ้าหน้าที่ผลิตไฟฟ้าแล้ว ในแต่ละวันยังมีเจ้าหน้าที่เหมืองแม่เมาะประมาณ116 คน ที่ต้องเผชิญกับฝุ่นและอากาศร้อน ควบคุมการโม่และลำเลียงถ่านหินจากในเหมืองป้อนให้กับโรงไฟฟ้าในสถานการณ์นี้ได้แบ่งการทำงานเป็นกะกลางวันและกลางคืน ทำหน้าที่กะละ 12 ชั่วโมง ซึ่งมากกว่าการทำงานปกติถึง4 ชั่วโมง โดยแบ่งครึ่งสลับกันเข้าทำงานและพักภายในที่พักของโรงไฟฟ้า4 วัน และหยุด “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” 4 วัน
“เรียกได้ว่าชีวิตช่วงนี้มีแต่งานเท่านั้น เพราะกว่าจะหมดวันก็หมดพลัง หัวถึงหมอนต้องรีบนอนเอาแรงไว้สู้กับงานในวันรุ่งขึ้น”
ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าจะถูกส่งผ่านสายส่งไฟฟ้าแรงสูงโดยมีศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า เป็นตัวกลางควบคุมการส่งจ่ายไฟฟ้าปรับแรงดันไฟฟ้า และดูแลระบบไฟฟ้าภาพรวม ก่อนส่งต่อไปยังเสาไฟฟ้าที่เชื่อมกับบ้านเรือนประชาชน นายจักรกฤษณ์ พิมพา หัวหน้าแผนกปฏิบัติการระบบ 1ซึ่งประจำการอยู่ที่ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าภาคเหนือ จ.พิษณุโลก เล่าว่า ที่นี่ได้มีการแบ่งการทำงานออกเป็นศูนย์หลักและเพิ่มศูนย์สำรอง โดยแบ่งครึ่งกำลังพลเจ้าหน้าที่ดูแลระบบไฟฟ้ากะเช้า บ่าย ดึก ทั้งหมด 12 คนต่อวัน ออกเป็น 2 ชุด แยกหน้าที่รับผิดชอบ และทำงานในพื้นที่ Safe Zone คนละอาคาร เมื่อถึงเวลาเลิกงานต้องรีบแยกย้ายกลับที่พัก “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” และหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ดูแลร่างกายให้ห่างไกลCOVID-19เพื่อให้มั่นใจได้ว่ากำลังไฟฟ้าจะถูกส่งจ่ายไปยัง17 จังหวัดภาคเหนือได้ต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง
“จังหวะนี้ต้องอาศัยทีมเวิร์คประสานการทำงานเป็นหนึ่งเดียว และประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญที่มีเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่กระทบกับการส่งจ่ายไฟฟ้าไปยังประชาชน”
เพราะเข้าใจดีว่า ทุกชีวิตต้องการไฟฟ้า ซึ่งมีส่วนช่วยนำพาประชาชนและประเทศชาติให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้อย่างราบรื่น กฟผ. จึงมุ่งมั่นเสริมความแข็งแกร่งจากภายใน เพื่อพร้อมปกป้องดูแลความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศ เคียงข้างคนไทยผ่านพ้นทุกวิกฤตเหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา