วันนี้ (29 เมษายน 2563) เวลา 13.30 น. นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างผลิกผันของการดำเนินการภาครัฐและมีแนวโน้มว่าต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการแก้ไข ประกอบกับปรากฎข่าวสารในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักส่งเสริมและ บูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริตร่วมกับสํานักวิจัยและบริการวิชาการด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และสํานักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม จึงได้ร่วมกันจัดทำ “แนวทางการป้องกันการทุจริตในสถานการณ์วิกฤติ: กรณีศึกษาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 (Scenarios for Prevention on Crisis Situation: A Case Study of COVID-19)” ภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ของตน ทำงานร่วมกันโดยใช้ข้อมูลการศึกษาเชิงลึกรวมถึงกรอบแนวคิดในเชิงวิชาการจากสำนักวิจัยฯ และข้อมูลเกี่ยวกับประกาศ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง หลักการป้องกันการทุจริต การเตรียมการเพื่อเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตในสถานการณ์โควิดรวมถึงสถานการณ์วิกฤติอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ในส่วนของสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมฯ มี “โครงการ STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต” ที่มีกลไกการสร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาชนผ่านชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต คลอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัดและกรุงเทพฯ รวม 77 ชมรม โดยมีเป้าหมายประชาชนตื่นรู้และไม่ทนต่อการทุจริตและร่วมกันสอดส่องและ แจ้งเบาะแสการทุจริต (Watch & Voice) ในพื้นที่ของตน
นอกจากนี้ยังมี “โครงการปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (โครงการต่อเนื่อง)” ที่มุ่งวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงต่อ การทุจริตพื้นที่ทั่วประเทศผ่านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และนำมาจัดทำเป็น “แผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (Corruption Risk Mapping)” ที่จะแสดงผลให้เห็นความเสี่ยงการทุจริตในประเด็นต่าง ๆ ทุกพื้นที่
จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงนำไปสู่ “การปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19” โดยได้ทำการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ตามกรอบแนวคิดการประเมินความเสี่ยง (risk assessment) ประกอบกับการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต (scenario Analysis) ที่อาจจะเกิดขึ้นโดยมีขั้นตอน พอสังเขป ดังนี้
1. วิเคราะห์จากข้อมูลข่าวสารนับตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดร่วมกับข้อมูลแนวนโยบายของภาครัฐที่จะดำเนินการในอนาคตแล้วโอกาสการทุจริตท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19
2. ประสานงานกับสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด รวมถึงเครือข่ายชมรม STRONG สำรวจและวิเคราะห์โอกาสการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้นจากข้อมูลข่าวสารและแนวโน้มในอนาคตจากข้อมูลข่าวสารในพื้นที่
3. รวบรวม วิเคราะห์ และแสดงผลเป็น “แผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต” ที่จะแสดงประเด็นความเสี่ยงการทุจริตในแต่ละพื้นที่ รวมถึงจัดลำดับความสำคัญ ประเด็นทุจริตที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงสุดแล้วประสานกับเครือข่าย ทั่วประเทศในการสอดส่องและแจ้งเบาะแสการทุจริตในพื้นที่ของตน (Watch & Voice) ในประเด็นดังกล่าว
4. กำกับ ติดตาม และปรับปรุงข้อมูลแผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตอย่างสม่ำเสมอตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้การแสดงผลของแผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตมีความใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัต
โดยขณะนี้สำนัก ป.ป.ช. ได้ดำเนินการวิเคราะห์ “โอกาสการทุจริตท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19” ตามกรอบแนวคิดการประเมินความเสี่ยง (risk assessment) ประกอบกับการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต (scenario Analysis) ที่อาจจะเกิดขึ้นโดยวิเคราะห์จากข้อมูลข่าวสารนับตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดร่วมกับข้อมูลแนวนโยบายของภาครัฐที่จะดำเนินการในอนาคตเพื่อให้มีการจับตามองและแจ้งเบาะแสการทุจริต (watch and voice) จำแนกโดยแบ่งจากจุดมุ่งหมายในการดำเนินการของภาครัฐ โดยแบ่งออกเป็นหมวดใหญ่ ๆ 3 จำพวก คือ 1. การยับยั้งและป้องกันโรค 2. การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และ 3. การดำเนินโครงการอื่นๆ ดังมีรายละเอียดดังนี้
1. การยับยั้งและป้องกันโรค หมายถึง การดำเนินการของรัฐเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค รวมถึงการดำเนินการเพื่อป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคในอนาคต เช่น การจัดซื้อจัดจ้างวัสดุครุภัณฑ์แพง ที่เกินจริง การจัดซื้อจัดจ้างวัสดุครุภัณฑ์ไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่สามารถใช้งานได้จริงหรือซื้อซ้ำซ้อน การนำเงิน หรือสิ่งของบริจาคมาใช้สอยแล้วตั้งงบประมาณเสมือนเป็นการจัดซื้อจัดจ้าง การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ในลักษณะเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเป็นคู่สัญญาของรัฐ ทุจริตการเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงหรือเบิกวัสดุที่ใช้ในการปฏิบัติงานพื้นที่ การเบียดบังทรัพย์สินของราชการ หรือทรัพย์สินที่ได้รับจากการบริจาคเพื่อการปฏิบัติราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตน เอื้อประโยชน์ หรือ อุปถัมภ์ (Patronage) หรือ เลือกที่รักมักที่ชัง (Nepotism) ให้แก่เอกชนในการเข้าเป็นคู่สัญญารัฐ พฤติการณ์เกี่ยวกับสินบนเพื่อให้อนุมัติอนุญาต ปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่บางประการ
2. การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ หมายถึง การดำเนินการของรัฐเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จากการดำเนินการยับยั้งและป้องกันโรคของภาครัฐทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงด้านสวัสดิการต่าง ๆ ซึ่ง อาจเกิดการทุจริตขึ้นได้เช่นกัน
3. การดำเนินโครงการอื่น ๆ หมายถึง การดำเนินการของรัฐในเรื่องอื่น ๆ ที่มิได้เกี่ยวกับวิกฤติ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 คือ การใช้โอกาสจากสถานการณ์ที่ประชาชนสนใจสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในการกระทำทุจริต เช่น เร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างวัสดุคุรุภัณฑ์ การดูแลรักษาซ่อมบำรุงสาธารณูปโภค โดย ไม่ชอบด้วยระเบียบกฎหมาย เป็นต้น
ทั้งนี้ การปักหมุดนี้เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการสอดส่องและแจ้งเบาะแสการทุจริต ทั่วประเทศภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) โดยสามารถป้องกัน ป้องปราม ยับยั้งการทุจริตได้อย่างทันท่วงที และมีการรวบรวมและแสดงผลข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อเก็บรักษาเป็นฐานข้อมูลที่ใช้ ในการต่อยอดการทำงานต่อไป
จึงแถลงมาให้ทราบโดยทั่วกัน