รองนายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมกระทรวงแรงงานและมอบนโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูง ในวันแรงงานแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนมาตรการในการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาแรงงานผู้ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) พร้อมให้กำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติในการขับเคลื่อนมาตรการร่วมกัน
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมกระทรวงแรงงานและมอบนโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูง เพื่อขับเคลื่อนมาตรการในการให้ ความช่วยเหลือและเยียวยาแรงงานผู้ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) โดยมีหม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน คณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมฯ
พลเอก ประวิตร กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 รัฐบาลได้ระดมสรรพกำลังในการดูแลช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน ซึ่งแรงงานเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ และขอขอบคุณกระทรวงแรงงานที่ได้ร่วมกันกำหนดมาตรการ ในการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาแรงงานผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ และแรงงานต่างด้าว รวมถึงขอ เน้นย้ำการทำงานเพิ่มเติมในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ (1) การรักษาพยาบาลผู้ที่ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ขอให้สนับสนุนบริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคไวรัสโควิด – 19 ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว (2) มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ว่างงาน ขอให้เร่งรัดการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานให้แก่ผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบให้ครบถ้วนไม่ตกหล่น รวมทั้งให้มีมาตรการช่วยเหลือในเรื่องของการฝึกอาชีพเพื่อยกระดับทักษะฝีมือและหางานให้ทำอย่างรวดเร็วที่สุด (3) การเฝ้าระวังและการป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ขอให้ดำเนินการให้ครอบคลุมและรอบคอบ รวมทั้งขอให้ชะลอการนำเข้าแรงงานต่างด้าวทุกขั้นตอน จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยให้ประสานการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงแรงงาน สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและกระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ จะต้องมีแผนรองรับหลังจากที่สถานการณ์ผ่อนคลายลง (4) แรงงานในภาคประมง ขอให้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานประมง รวมทั้งการดูแลไม่ให้มีการละเมิดสิทธิแรงงานเกิดขึ้น โดยขอให้บูรณาการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและติดตามข่าวสารในช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหน่วยงานภาคประชาสังคม (5) ในส่วนของการร่างพระราชบัญญัติธนาคารประกันสังคมและพระราชบัญญัติแรงงานนอกระบบ ขอให้เป็นไปด้วยความรอบคอบ รับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มและคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ขอให้กำหนดมาตรการส่งเสริมการจ้างงาน การพัฒนาทักษะ และการประกอบอาชีพในรูปแบบที่เหมาะสมกับกลุ่มแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ รวมทั้งส่งเสริมการรับงานไปทำงานที่บ้าน เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ รวมถึงบรรเทาภาระหนี้สินและค่าครองชีพของประชาชน