นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 จังหวัดชัยนาท (สศท.7) เพื่อติดตามโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่อ้อยโรงงานอินทรีย์ในพื้นที่อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี ซึ่งเกษตรกรปรับเปลี่ยนการทำอ้อยโรงงานแบบใช้สารเคมี เป็นการทำแบบอินทรีย์จนประสบผลสำเร็จ และได้ร่วมกับโรงงานอ้อยและน้ำตาลกลุ่มวังขนายทำเกษตรพันธสัญญา (Contact Farming) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรว่ามีแหล่งรับซื้อที่แน่นอน อีกทั้ง ยังสอดรับกับแนวโน้มอัตราการเติบโตของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพและเลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
จากการติดตามของ สศท.7 พบว่า เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 มีสมาชิกแปลงใหญ่ จำนวน 30 ราย พื้นที่ทั้งหมด 1,770.08 ไร่ ผลผลิตรวม จำนวน 16,178.53 ตัน/ปี ปีเพาะปลูก 2562/63 เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตจนถึงเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 6,385 บาท/ไร่ (เริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุ 10 เดือน - 1 ปี) ระยะเวลาเก็บเกี่ยว ช่วงเดือนธันวาคม – เมษายน ให้ผลผลิตเฉลี่ย 10 – 15 ตัน/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 1,115 บาท/ไร่ ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ย 751 บาท/ตัน ซึ่งราคาขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง อาทิ ค่าความหวานอ้อย (CCS) การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น เป็นต้น
โดยผลผลิตทั้งหมดจำหน่ายให้กับโรงงานกลุ่มวังขนาย จังหวัดลพบุรี นำไปแปรรูปเป็นน้ำตาลออร์แกนิคส่งจำหน่ายภายในประเทศร้อยละ 75 และอีกร้อยละ 25 ส่งออกต่างประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน โครเอเชีย และนิวซีแลนด์
จากผลสำเร็จตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ผ่านมา แปลงใหญ่อ้อยโรงงานอินทรีย์ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานต่างๆ รวมทั้งมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ 1) มาตรฐานของประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC 483/2007) 2) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา (USDA-NOP) 3) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศญี่ปุ่น (Japan Agriculture Standard : JAS) 4) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศเกาหลี (Korean Organic) และ 5) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศแคนาดา (Canada Organic Regime : COR) จึงเป็นเครื่องการันตีและสร้างความมั่นใจกับผู้ค้าและผู้บริโภคได้ว่าผลผลิตอ้อยโรงงานอินทรีย์ของเกษตรกรได้มาตรฐานและมีคุณภาพสูง
ด้านนายชีวิต เม่งเอียด ผู้อำนวยการ สศท.7 กล่าวเพิ่มเติมว่า อ้อยโรงงานอินทรีย์ นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคตสดใส สามารถยกระดับรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกร ซึ่งจากการสัมภาษณ์พูดคุยกับประธานแปลงใหญ่ (นายจรูญ ฉิมบันเทิง) ได้บอกเล่าถึงผลสำเร็จของการปลูกอ้อยโรงงานแบบอินทรีย์ว่า เดิมเกษตรกรปลูกอ้อยโรงงานแบบใช้สารเคมีแต่กลับพบปัญหาเรื่องพื้นที่ปลูก ดินเริ่มไม่มีคุณภาพ ดินเสียและแข็ง ปัญหาขาดแคลนแรงงานรับจ้างฉีดยา รวมถึงเกษตรกรเริ่มมีสุขภาพไม่ดีตรวจพบสารพิษตกค้างในร่างกาย จึงปรับเปลี่ยนมาทำแปลงอ้อยเกษตรอินทรีย์ ถึงแม้ผลผลิตต่อไร่ในช่วงระยะเวลา 3 ปี จะน้อยกว่าการปลูกอ้อยโรงงานทั่วไป แต่เกษตรกรได้รับผลตอบแทนสูงกว่าถึงร้อยละ 37 เนื่องจากต้นทุนการผลิตลดลง เกษตรไม่ใช้ปุ๋ยและสารเคมี ส่งผลให้คุณภาพของดินดีขึ้น ปัญหาโรคแมลงศัตรูพืชลดลง ซึ่งในอนาคตทางกลุ่มมีแผนขยายพื้นที่ปลูกอ้อยอินทรีย์เพื่อรองรับความต้องการของตลาดอีกประมาณ 2,000 ไร่
ดังนั้น หากภาครัฐส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มแปลงใหญ่อ้อยโรงงานแบบอินทรีย์ หรือสินค้าเกษตรอินทรีย์ชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้นจะช่วยลดปัญหาการขาดทุนในปีที่ราคาผลผลิตสินค้าเกษตรตกต่ำ อีกทั้งยังช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น