คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กพถ.) กลับมาเป็นประเด็นพูดถึงกันอีกครั้งหลังสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ผ่านร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยในเนื้อหาได้กล่าวถึงการปรับปรุง กพถ.ด้วย แต่วันนี้จะขอเสนอบทความฉบับย่นย่อของนายสรณะ เทพเนาว์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่เสนอแนะการพิทักษ์ระบบคุณธรรมท้องถิ่นไว้ พร้อมชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของกฏหมายนี้ ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจยิ่ง ที่สำคัญเพื่อเป็นการปูพื้นก่อนจะไปดูสิ่งที่สปท.แก้ไขกพถ. จะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
ปัญหาการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นที่ผ่านมาที่ผู้เขียนเห็นว่ามีความสำคัญ 2 ประการคือ ปัญหาร่างกฎหมายที่ต้องอนุวัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่มีการจัดเตรียมไว้แล้ว แต่ไม่ได้รับการตราเป็นกฎหมาย และ ปัญหาการศึกษาและงานวิจัยที่เกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่นมีจำนวนมาก แต่ไม่ได้รับนำไปปฏิบัติ ในที่นี้ได้แก่ปัญหาการศึกษาด้านการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 288 บัญญัติให้มี คณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น มีลักษณะเป็นไตรภาคี และกำหนดให้มี องค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรมของข้าราชการส่วนท้องถิ่น หรือ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการส่วนท้องถิ่น เรียกย่อว่า ก.พ.ถ.
เรื่องนี้ดร.สุรพงษ์ มาลี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาปัญหาการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ให้เหตุผลสำคัญที่ต้องมี ก.พ.ถ. ว่าเนื่องจาก อปท. มีเรื่องอุทธรณ์และร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้อำนาจการบริหารทรัพยากรบุคคลโดยมิชอบและมีการกลั่นแกล้งกันมาก หากการลงโทษมีผลกระทบถึงความเป็นธรรม และความมั่นคงในการเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น อันเป็นหลักสำคัญประการหนึ่งของระบบคุณธรรม จึงควรมีองค์กรที่มีความเป็นอิสระในการพิจารณาให้ความเป็นธรรม เช่นเดียวกับคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมของข้าราชการพลเรือนสามัญ
ก.พ.ถ. ถือเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เพราะกรณีข้าราชการส่วนท้องถิ่นมีความขัดแย้งกับผู้บริหารท้องถิ่นจะได้ใช้ช่องทางในการเยียวยาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ รูปแบบกระบวนการขั้นตอนที่เหมาะสมของการคัดเลือกหรือการสรรหา และแต่งตั้งคณะกรรมการ ก.พ.ถ. อันจะทำให้การบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นมีระบบการพัฒนาได้อย่างประสิทธิภาพและมีระบบคุณธรรมอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับ ข้าราชการพลเรือน ที่มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม หรือ ก.พ.ค. มีลักษณะเป็นองค์กรกึ่งตุลาการ มีความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง
ทั้งนี้ผู้เขียนมีข้อสังเกตเพิ่มเติม ตามมาตรา 42 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน การบริหารทรัพยากรบุคคลต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง ถือเป็นหลักการของ ระบบคุณธรรม เพื่อแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังในการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นจาก การแทรกแซงจากผู้บริหารฝ่ายการเมือง ซึ่ง ดร.สุรพงษ์ เห็นว่ามีความสำคัญยิ่งสำหรับท้องถิ่นที่ต้องบัญญัติไว้ในกฎหมาย ทั้งเพื่อลดระบบอุปถัมภ์ในการใช้ดุลพินิจของผู้บริหาร
ควรมีบทบัญญัติกลไกการโอนย้ายเพื่อป้องกันปัญหากรณีผู้บริหารท้องถิ่น เกิดความขัดแย้งกับข้าราชการไว้ในร่างพระราชบัญญัติด้วย การบัญญัติให้มี ก.พ.ถ.ถือเป็นกลไกใหม่ที่รับประกันความเป็นธรรมในการบริหารงานบุคคลของ อปท. โดยแยกบทบาทการกำหนดทิศทาง นโยบาย มาตรการ กฎระเบียบการบริหารงานบุคคล หรือหน้าที่การเป็น ผู้บริหารงานบุคคลให้เป็นของ ก.ถ. และสำนักงาน ก.ถ.ไม่ทำหน้าที่พิทักษ์ระบบคุณธรรมเพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้งในบทบาทและขัดกับหลักการตรวจสอบ สอบทาน และถ่วงดุลการใช้อำนาจการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น
ส่วนความเป็นอิสระของ ก.พ.ถ. โดยกำหนดให้ เลขานุการ ก.พ.ถ. มิได้มีตำแหน่งเป็นกรรมการ ก.พ.ถ. และกรรมการ ก.พ.ถ. เป็นกรรมการที่ปฏิบัติงานเต็มเวลา ตามประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.กลาง) เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับสิทธิการอุทธรณ์ การพิจารณาอุทธรณ์และการร้องทุกข์ ข้อ 22 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับข้อ 21 พนักงานส่วนท้องถิ่นผู้ใดเห็นว่าผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติต่อตนโดยไม่ถูกต้อง หรือไม่ปฏิบัติต่อตนให้ถูกต้องตามกฎหมาย หรือปฏิบัติให้เกิดความคับข้องใจต่อตน ผู้นั้นอาจร้องทุกข์เพื่อขอให้แก้ไขหรือแก้ความคับข้องใจได้ ทั้งนี้ เว้นแต่กรณีที่มีสิทธิอุทธรณ์ตามหมวด 1 ซึ่งต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ตามที่กำหนดในหมวดนั้น
หากอปท. มีการตั้ง ก.พ.ถ. ขึ้นอาจมีเนื้อหาอำนาจหน้าที่ในการ ร้องทุกข์ ที่แตกต่างจาก ก.พ.ค. กล่าวคือ อปท. ใช้คำรวมเหตุแห่งการร้องทุกข์ที่ไม่ชัดเจนว่า ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ทำให้เกิดความคับข้องใจต่อตน โดยยังมิได้มีการบัญญัติถึงเหตุแห่งการร้องทุกข์อันเนื่องมาจากเหตุอื่นที่ชัดเจนอันได้แก่ (1) ความไม่ชอบด้วยกฎหมาย (2) การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดขึ้นเกินสมควร (3) การใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ (4) ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอื่นใดที่ไม่เป็นไปตามระบบคุณธรรม" สมควรนำมาพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมและบัญญัติไว้ในร่างกฎหมายบุคคลส่วนท้องถิ่นด้วย
และเนื่องจาก อปท. มีลักษณะเป็น องค์กรทางการเมือง ผู้เขียนขอเสนอรูปแบบ โครงสร้างของก.พ.ถ. ซึ่งน่าจะมีโครงสร้างที่แตกต่างจาก ก.พ.ค. ของข้าราชการพลเรือน ดังนี้ มีคณะกรรมการร่วม 5 ฝ่าย รวม 7 คน ได้แก่ ผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผู้แทนจากส่วนราชการ ผู้แทนผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัย หน่วยละ 1 คน และผู้แทนองค์กรพนักงานส่วนท้องถิ่นที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ผู้ทรงคุณวุฒิจากการคัดเลือกจากปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ผู้เกษียณอายุ) หน่วยละ 2 คน
โดยผู้เขียนหวังว่าบทความซึ่งเป็นข้อเขียนนี้ จะเป็นคำชี้แจงถึงเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนประการหนึ่งที่ต้องมีการจัดตั้ง องค์กรคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการส่วนท้องถิ่นของ อปท.เพื่อให้มีองค์กรทำหน้าที่รับและตรวจสอบเรื่องร้องทุกข์ของพนักงานส่วนท้องถิ่น กรณีที่มีปัญหาการบริหารงานบุคคลเกิดจากการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้รับความเป็นธรรม ส่งผลกระทบต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ขาดการกำหนดมาตรการเยียวยาตามระบบคุณธรรม ทำให้พนักงานส่วนท้องถิ่นที่ถูกกลั่นแกล้ง ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่มีที่พึ่งพา ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา
อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายนี้ แม้ผ่านที่ประชุมสปท.แล้ว แต่ยังต้องนำไปปรับปรุงก่อนส่งให้กับคณะรัฐมนตรี เพื่อจะเสนอเป็นร่างกฎหมายเข้าสู่การเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ต่อไป โดยสนช.นำพิจารณาหลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านการออกเสียงประชามติแล้ว เพื่อเป็นการปฏิรูประบบการบริหารท้องถิ่นเป็นภาพรวมไปพร้อมกัน