" คนต่างจังหวัดรู้จักผมมากกว่าคนกรุงเทพฯ " อาจเป็นคำพูดที่ฟังแล้วไม่เกินจริงนักสำหรับ ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำละการเกษตร (สสนก.) ซึ่งในห้วงเวลาทั้งน้ำท่วม และฝนแล้งกลายเป็นปัญหาความเดือดร้อนประชาชน ตลอดหลายปีที่ผ่านมาได้ออกมาช่วยให้ข้อมูลบอกกล่าวแจ้งเตือนต่อภัยธรรมชาตินี้อย่างมีประสิทธิภาพ และในวันนี้ ดร.รอยล จะมาเล่าถึงบทบาทของสสนก.ผ่านอปท.นิวส์ว่ามีหน้าที่สำคัญอย่างไร
อปท.นิวส์ - ที่มาที่ไปของสสนก.เป็นอย่างไร ?
ดร.รอยล – เริ่มตั้งแต่ปี2541 เป็นองค์การเครือข่ายเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย เป็นโครงการในพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่ง ให้ดำเนินการ รวบรวมข้อมูล 5 หน่วยงานเข้าด้วยกัน มีกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต กรุงเทพมหานคร กรมอุตุนิยมวิทยา แล้วก็สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สมัยนั้นยังไม่มีกรมทรัพยากรน้ำ ตอนหลังนำกรมอุทกศาสตร์เข้ามา เริ่มถวายงานปี 2545 ระบบเริ่มใช้ได้ ก็พัฒนาระบบตรวจวัดฝน ตรวจวัดอากาศขึ้นมาเองเป็นระบบอัตโนมัติ ตอนนี้เรามีประมาณ 880 สถานี ทั้งวัดระดับน้ำ ทั้งวัดเรื่องฝน ระบบออนไลน์ แล้วก็อีกส่วนหนึ่งที่เราพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเองคือ คลังข้อมูลน้ำ เป็นการเชื่อมต่อข้อมูลเข้าด้วยกัน หลังจากปี 2551 ก็ปรับตัวเป็นองค์การมหาชน ก็เป็นสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตรและหลังปี 2554 เราก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้ตั้งเป็นคลังข้อมูลทรัพยากรน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ
อปท.นิวส์ – บทบบาทและหน้าที่ของสสนก.เป็นอย่างไรบ้าง ?
ดร.รอยล – อันที่หนึ่งเชื่อมโยงข้อมูลจาก 5 กรมก็ขยับขึ้นมาเป็น13กรม ปัจจุบันมี 33หน่วยงาน อันที่สองเชื่อมโยงข้อมูลจากต่างประเทศไม่ว่าสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ก็เชื่อมเข้ามาด้วยกัน มีทั้งภาษาไทย ภาษาญี่ปุ่น และภาษาอังกฤษเข้าไปดูได้ที่ www.thaiwater.net แล้วก็ส่วนที่สำคัญที่เราคิดว่าข้อมูลมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อได้รับการใช้งาน เราแยกเป็นสองส่วน คือ www.thaiwater.net และการให้บริการทางมือถือเป็นแอพ ส่วนสุดท้ายก็คือการให้บริการในระดับอบต. เราให้เป็นระบบไอพีทีวี สามารถเข้าไปได้โดยติดตั้งอินเตอร์เน็ต เป็นกล่องไอพีทีวีดัดแปลงต่อเข้ากับระบบโทรทัศน์ อบต.สามารถเรียกดูใช้งานข้อมูลได้ สุดท้ายที่รัฐบาลให้เราทำเป็นคณะกรรมการเพื่อบูรณาการข้อมูลน้ำของประเทศ สิ่งที่ได้รับอนุมัติก็คือ มอบหมายให้ส่วนราชการวิเคราะห์ข้อมูล 9ด้านก็มีเรื่องของการคาดการณ์ฝนกับอากาศ ที่จะสนับสนุนให้เกิดการคาดการณ์ระยะยาว ไม่เพียงแค่มอง3วัน 7วัน จะต้องมองเป็นเดือน เป็นฤดูให้ได้ ส่วนที่สองเรื่องน้ำในเขตชลประทาน สามน้ำนอกเขตชลประทาน สี่เรื่องของคุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อม ห้าภัยพิบัติ หกน้ำอุปโภคบริโภค เจ็ดน้ำเพื่อความมั่นคงเรื่องพลังงาน แปดข้อมูลสนับสนุนการพัฒนาน้ำของประเทศ ส่วนที่เก้าน่าจะเป็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
อปท.นิวส์ - ของเรานี่มีสองส่วนคือน้ำและการเกษตรใช่ไหม ?
ดร.รอยล – ใช่ครับ ข้อมูลน้ำ ข้อมูลเกษตรเรายังมีน้อย ส่วนใหญ่เป็นของน้ำ
อปท.นิวส์ - เรื่องเกษตรนี่เป็นยังไงช่วยขยายความ ?
ดร.รอยล – อันที่หนึ่งที่เราเกี่ยวข้องก็คือ พื้นที่เกษตรของประเทศไทย 154ล้านไร่ อยู่ในเขตชลประทานแค่ 27ล้านไร่ นอกเขตชลประทานเขาจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำ ที่แล้วมา เราไม่ได้มีระบบให้กับเขา ร้อยละ80นี่อยู่นอกเขตชลประทาน คือข้อมูลเรื่องการเกษตรนี่ ตอนหลังพบว่า กระทรวงเกษตรมีสำนักงานเศรษฐกิจเรื่องการเกษตร มีกรมส่งเสริมการเกษตร ข้อมูลอยู่ที่ตรงนั้นเยอะแล้วเราเอาใจใส่เฉพาะเรื่องข้อมูลน้ำ เพราะตรงนั้นเหมือนมีเจ้าภาพอยู่แล้ว
อปท.นิวส์ – เราบูรณาการกับหลายหน่วยงานมีความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนในแง่ของความร่วมมือ ?
ดร.รอยล – ข้อมูลทั้งหมดตอนนี้มีอยู่ 300 กว่ารายการ เกือบ400 ประมาณ 370 รายการของจากหน่วยงาน33กรม เราก็รวบรวมมาได้เกือบหมด ได้200กว่า ก็ถือว่ามากที่สุดหนึ่งแห่งของโลก หากจะบอกว่ามีความสำเร็จแค่ไหนก็บอกยาก เพราะความสำเร็จมันอยู่กับการใช้งาน ไม่ใช่การรวบรวมข้อมูล ในเรื่องรวบรวมข้อมูลไม่ยาก เทคนิคมันตายตัว ทำวันไหนก็ได้วันนั้น
อปท.นิวส์ – อาจารย์ช่วยขยายความในความหมายในเรื่องของการวิจัยข้อมูลว่าเป็นอย่างไร ?
ดร.รอยล – ต้องตั้งทีม 9 ด้านเพื่อให้เกิดการวิจัย เรื่องของการมีข้อมูลไม่ใช่คำตอบ แต่คำตอบคือการวิจัย ที่แล้วมาทางราชการมักบอกไม่มีข้อมูล ซึ่งมันไม่จริง ปัญหาของไทยคือการไม่ใช้ข้อมูล ทีนี้ก็ทำให้เกิดกลุ่มที่จะใช้ข้อมูล 9 ด้าน ถ้าจะฟังเรื่องการวิจัย เบื้องต้นหนึ่งน้ำต้นทุน ต้องเพิ่มที่เก็บ ฝนปีหนึ่ง 750000 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร เราต้องการใช้แค่แสนกว่าล้านลูกบาศก์เมตร นี่คือการวิเคราะห์ ปัญหาน้ำท่วมปี 2554 ทุกคนมีข้อมูลตรงกันหมด แต่วิเคราะห์ไม่ตรงกัน เวลาจะสร้างก็ไม่เคยสร้างได้ ปัญหาไม่ใช่ทางเทคนิค แต่ปัญหาก็การไม่ยอมรับ เขาไม่ยอมรับเพราะว่าบางครั้งสร้างแล้ว เขาไม่ได้ใช้ คนอื่นใช้ อันที่สองเขื่อนเราไม่ได้สร้างเพิ่มเติมมาเลยตั้งแต่ปี 2540 บางที่ก็เสนอผิดๆ แหล่งกักเก็บน้ำฝน เรากักเก็บได้80000 ล้าน แต่เราเก็บได้แค่ครึ่งเดียวเลยเดือดร้อน เพราะใช้ที่ดินเหนือเขื่อนไม่เป็น ตรงนี้อปท.มีส่วนช่วย คุณมีที่เก็บ ฝนก็มีแต่น้ำไม่เข้า ในขณะน้ำไม่เข้าเพราะคุณขยายการพัฒนาเมือง ขยายถนน มันเลยบล็อกไม่เข้า ซึ่งเห็นทุกที่
ตัวอย่างพัทยา ระยอง ปีนี้แล้ง แต่ท่วมไปกี่ครั้งแล้ว น้ำต้นทุนไม่ได้เพิ่มแต่นักท่องเที่ยวเพิ่ม ตัวเมืองขยาย พื้นที่เกษตร ประชากรไทยจะหยุดอยู่ที่ 67-68 ล้านคนแต่การใช้น้ำ เพิ่มขึ้น 35 เปอร์เซ็น ถ้าน้ำต้นทุนลดหาแหล่งน้ำเพิ่มไม่ได้ น้ำไม่เข้า ผมอยากให้ไปสัมภาษณ์อบต.ที่ลงเงินเรื่องน้ำเยอะๆอย่างเช่น คุณบำรุง คะโยธา ที่กาฬสินธุ์ ที่พิจิตรก็ลงเงินเรื่องน้ำเยอะจุดตรงนี้เงินสี่แสนล้าน จะลงทุนเรื่องน้ำสี่หมื่นล้าน คือ10 เปอร์เซ็น ซึ่งสิ่งที่พบกลายเป็นเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง 8เปอร์เซ็น พัฒนาแค่ 2 เปอร์เซ็นก็ประมาณแปดพันล้าน เพราะฉะนั้นความหมายว่าอบต.เองยังไม่มีแผนเรื่องน้ำ เอาไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้า 8 เอามาพัฒนาแค่ 2 คือวันที่รัฐบาลส่งมอบโครงการน้ำให้อบต. ไม่ได้เตรียมการเลยให้เขาพร้อม นี่กลายเป็นปัญหาใหญ่
" กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และคณะกรรมการกระจายอำนาจ 3 หน่วยงานนี้ต้องสนับสนุนอบต. พร้อมที่จะบริหารจัดการน้ำ มีตัวอย่างที่อบต.บึงชำอ้อ ปทุมธานี ผมอยากให้เดินเรื่องนี้ อีกตัวอย่างปี2548 ภัยแล้งที่ระยอง วันที่ผมไปคุยกับอบต. เขาไม่รู้เลยว่าตัวเองมีฝายกี่ตัวอยู่ตรงไหน คือวันที่ส่งมอบปรากฏว่าส่วนราชการที่เป็นเจ้าของฝายเดิมไม่ได้ส่งแผนที่ แผนบริหารน้ำว่าต้องจัดการอย่างไร คราวนี้ถึงบางอ้อแล้วยัง คือประเทศไทยมีแต่ไฮเวย์ วันที่ไฮเวย์พัง ถนนซอยก็ไม่พร้อมใช้งานเลย เจ๊งหมด ถามว่าถนนมีแต่ไฮเวย์ได้ไหม ไฮเวย์ก็คืออ่างขนาดใหญ่ ถนนซอยก็อ่างขนาดเล็ก แต่อ่างขนาดเล็กวันที่คุณส่งมอบ คุณทำให้เขาพร้อมไหมในการบริหารจัดการ " ดร.รอยล กล่าว