ที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ นายประสิทธิชัย ผังรอดรัตน์ ปลัดอำเภอฆ้องชัย พร้อมด้วย ร.ต.ประธาน ประไชโย หัวหน้าชุดปฏิบัติการพื้นที่ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกันมอบรถไถนาจำนวน 7 คัน ให้แก่กองทุนหมู่บ้าน โดยมีนายยงยุทธ อุดมชัย ประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านอำเภอฆ้องชัย พร้อมด้วยประธานกองทุนหมู่บ้านและผู้นำชุมชนจำนวนมาก ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายประสิทธิชัย ผังรอดรัตน์ ปลัดอำเภอฆ้องชัย กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มอบนโยบายประชารัฐ ให้ทุกภาคส่วนทั้งราชการ ท้องถิ่น ท้องที่ ภาคประชาชน ประสานความร่วมมือในการบริหารการพัฒนา การปกครอง ด้านเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคม รวมทั้งได้จัดสรรงบประมาณต่อยอดกองทุนเงินล้านให้แต่ละกองทุนอีก 5 แสนบาท ทั้งนี้ อำเภอฆ้องชัยมีกองทุนหมู่บ้านที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวชุดแรก 17 กองทุน ซึ่งแต่ละกองทุนนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้ตามความต้องการไม่เหมือนกัน เช่น ตั้งโรงสีข้าวชุมชน ปรับปรุงที่ทำการกองทุน ซื้อปุ๋ยเพื่อการเกษตร เป็นต้น
ขณะที่มี 7 กองทุนนำมาจัดซื้อรถไถนาเพื่อนำมาไถนาให้กับสมาชิก โดยคิดค่าบริการราคาถูกกว่ารถไถนารับจ้างทั่วไป เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตภาคการเกษตร จึงได้ทำการส่งมอบรถไถนาให้กับกองทุนหมู่บ้านในครั้งนี้จำนวน 7 คัน โดยจะส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาไถกลบตอซังในนาข้าว รวมถึงการใช้ปุ๋ยพืชสดบำรุงดินพื้นที่การเกษตรเพื่อก้าวสู่วิถีเกษตร อินทรีย์ ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ของเกษตรกร เพราะต่อจากนี้ปัญหารถไถไม่ยอมไถกลบตอซังคงจะไม่เกิดขึ้นในพื้นที่
นายยงยุทธ อุดมชัย ประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านอำเภอฆ้องชัย กล่าวว่า อาชีพหลักของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านในเขตอำเภอฆ้องชัย คือทำนา ทำปีละ 2 ครั้ง คือนาปีและนาปรัง มีที่นาคนละ 10-20 ไร่ เฉพาะค่าจ้างรถไถตกปีละ 5,000-10,000 บาท/ราย เป็นปัญหาที่ชาวนาประสบ เพราะต้นทุนการผลิตที่เริ่มจากค่าจ้างไถนาสูงถึงไร่ละ 500-600 บาท ประกอบกับค่าปุ๋ยยา ค่าแรงงาน มีราคาสูง ยิ่งเป็นภาระความเดือดร้อนที่สมาชิกประสบและแบกรับมาหลายปี นอกจากนี้ยังประสบภัยแล้งที่รุนแรง ไม่ได้ทำนาปรังเต็มที่ ทำให้ไม่มีรายได้และต้นทุนการทำนา
จากการที่รัฐบาลได้จัดสรรเงินต่อยอดกองทุนให้กองทุนละ 5 แสนบาท ทางคณะกรรมการกองทุนหลายหมู่บ้าน ได้มีมตินำมาจัดซื้อรถไถนา โดยจัดมอบชุดแรก 7 คัน เพื่อนำมาใช้บริการไถนาให้สมาชิกราคาถูก เพียงไร่ละ 400 บาท ซึ่งแต่ละกองทุนจะได้มีการแต่งตั้งกรรมการกำกับดูแล ทั้งการบำรุงรักษา รายรับ รายจ่าย นำรายได้เข้ากองทุน และจัดตารางการไถนา เพื่อความเป็นธรรมในการบริการ และไม่เกิดปัญหาการตัดราคากับผู้ประกอบการรับจ้างไถนา เนื่องจากผู้ที่ประกอบการรถไถนารับจ้างก็เป็นสมาชิกกองทุนเช่นกัน