พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท (CAT) เปิดเผยว่า ได้เตรียมพร้อมรับโอกาสบริหารดาวเทียมแห่งชาติ หลังจากที่คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เห็นชอบให้แคทเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการทรัพย์สินที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รับโอนหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานให้บริการดาวเทียมกับ บมจ. ไทยคม โดยอยู่ระหว่างรอกระทรวงดิจิทัลฯ นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ค.ร.ม.) หากได้รับอนุมัติจาก ค.ร.ม. แคทได้จัดทำแผนบริหารจัดการดาวเทียมแห่งชาติแบบจีทูจีด้วยกระบวนการตามมาตรา 49 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ร่วมทุนฯ นำเสนอผ่านคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติและคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้วเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563
โดยแผนครอบคลุมการเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ซึ่งอยู่ในขอบเขตความสามารถบริหารจัดการของแคททั้งการพิจารณาต่อยอดสินทรัพย์ดาวเทียมที่จะหมดอายุการใช้งานวิศวกรรมเพื่อการใช้งานระยะยาวโดยแคทได้เตรียมแผนบริหารดาวเทียมที่จะเหลือ 2 ดวงหลังสิ้นสุดสัมปทานคือไทยคม 4 และไทยคม 6 รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรรองรับงานในอนาคตแนวทางสำหรับดาวเทียมไทยคม4 (ไอพีสตาร์) ที่มีอายุทางวิศวกรรมและพลังงานเชื้อเพลิงใช้ได้ถึงปี 2565
"แคทมีความพร้อมของบุคลากรมากกว่า 100 คน มีความพร้อมทางโครงสร้างพื้นฐาน มีความพร้อมทางกฎหมายและมีความประสบการณ์ในธุรกิจดาวเทียมมาอย่างยาวนาน และได้ส่งบุคลากรไปฝึกควบคุมดาวเทียมกับไทยคมพร้อมแล้ว" พ.อ.สรรพชัย กล่าว
พ.อ.สรรพชัย กล่าวว่า แคทประเมินว่า เป็นตำแหน่งดาวเทียมที่มีศักยภาพสูงรองรับลูกค้าไทยและต่างชาติ ควรรักษาไว้ โดยร่วมทุนกับพันธมิตรในการจัดหาดาวเทียมดวงใหม่มาทดแทน และอาจส่งโดรนเติมเชื้อเพลิงเพื่อใช้งานต่ออีกระยะหนึ่งระหว่างรอการจัดหาดาวเทียมทดแทน หลังหมดอายุใช้งานทางวิศวกรรมในปี 2565 “เราจะพยายามรักษา Slot นี้ให้อยู่กับประเทศไทยต่อไป โดยหากเราได้ดาวเทียมใหม่มาแทนที่ไทยคม 4 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้งานมานานกว่า 10 ปี ดาวเทียมบรอดแบนด์ใหม่จะใช้เทคโนโลยีรุ่นใหม่ที่ประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยมีต้นทุนทางเทคโนโลยีที่ลดลง ซึ่งอาจส่งผลลดค่าบริการลงได้ ในขณะที่จะสามารถขยายสัญญาณการให้บริการแก่ลูกค้าได้มากขึ้นทั้งไทยและต่างชาติ นอกจากเป็นการรักษาลูกค้าเดิม จึงสามารถขยายฐานลูกค้าเพิ่มโอกาสธุรกิจ อีกทั้งยังเป็นการช่วยภารกิจรัฐบาลที่จะได้รักษาตำแหน่งวงโคจรที่สำคัญนี้ไว้เพื่อความมั่นคงของกิจการดาวเทียมของประเทศ”
ทั้งนี้ แนวทางการบริหารดาวเทียมดังกล่าว หลังหมดสัมปทานหากสามารถดำเนินการได้เร็ว จะยิ่งช่วยให้ลูกค้าในระบบเกิดความมั่นใจในการใช้บริการต่อ เพราะที่ผ่านมา หลังจากไม่มีการยิงไทยคม 9 ทดแทน จึงทำให้ลูกค้าดาวเทียมไทยคม 4 ทยอยลดลง
"แคทมองว่า ธุรกิจดาวเทียมยังเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะข้อได้เปรียบในพื้นที่ห่างไกล หมู่เกาะ และพื้นที่ที่บริการทางสายเข้าไม่ถึง รวมถึงธุรกิจเดินเรือ เราไม่ได้ทำธุรกิจแค่ในประเทศ แต่ทำธุรกิจระหว่างประเทศด้วย รวมไปถึงมีแผนให้บริการดาวเทียมวงโคจรต่ำ" กรรมการผู้จัดการใหญ่แคท กล่าว
สำหรับดาวเทียมดวงที่ 6 อยู่ในตำแหน่งเดียวกับไทยคม 5 เป็นตำแหน่ง Hot Bird ที่มีศักยภาพและมูลค่าธุรกิจสูงมาก ขณะนี้รับลูกค้าบริการบรอดคาสต์ที่โอนย้ายจากไทยคม 5 เต็มขีดความสามารถ โดยรองรับผู้ชมโทรทัศน์ระบบดาวเทียมกว่า 15 -16 ล้านราย และมีอายุการใช้งานถึงปี 2572 หลังจากนั้น แคทจะดำเนินการด้านเอกสารข่ายงานดาวเทียม (Satellite Network Filing) เพื่อจองตำแหน่งดาวเทียมและพัฒนาตาวเทียมใหม่ทดแทน โดยเป็นการช่วยรักษาตำแหน่งดาวเทียมนี้ไว้ต่อไป เพื่อการใช้ประโยชน์ในระยะยาวของประเทศ สำหรับงานบริหารจัดการและควบคุมดาวเทียมในบางส่วน ซึ่งมีความละเอียดอ่อนจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรเพิ่มความรู้ทักษะเฉพาะด้าน แคทจะพัฒนาบุคลากรโดยส่งพนักงานเข้าฝึกอบรมเตรียมความพร้อมในการบริหารสินทรัพย์อย่างต่อเนื่องหลังสิ้นสุดสัมปทาน
แคทเชื่อมั่นว่า ดาวเทียมสื่อสารจะมีบทบาทสนับสนุนประเทศไทยให้พร้อมขับเคลื่อนทุกภาคส่วนด้วยดิจิทัล แคทพร้อมให้ความมั่นใจแก่ประชาชนว่า ประเทศไทยจะมีดาวเทียมใช้งานในอนาคตอย่างมั่นคงเพื่อช่วยในการพัฒนาประเทศไทย 4. 0 ได้ทั่วถึงและครอบคลุมในทุกพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น
นอกเหนือจากไทยคม 4 และไทยคม 6 ดังกล่าว ยังเสริมด้วยการให้บริการจากเครือข่ายดาวเทียม LEO (Low Earth Orbit) ที่มีการใช้งานลักษณะกลุ่มดาวเทียม (Constellation) ครอบคลุมทั่วโลกกว่า 600 ดวง ซึ่ง CAT อยู่ระหว่างดำเนินการโดยเป็นเครือข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำที่จะรองรับการพัฒนาโครงข่าย 5G อย่างเต็มศักยภาพของไทยด้วยคุณสมบัติสำคัญคือ การส่งข้อมูลความเร็วสูงเกิน 400 Mbps ความหน่วงต่ำกว่า 32 มิลลิวินาที (32 ms) และสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายอุปกรณ์ IoT, M2M (Machine to Machine) จำนวนมาก จึงสามารถเสริมประสิทธิภาพร่วมกับ 5G ภาคพื้นดินเพื่อครอบคลุมทุกพื้นที่สำหรับการพัฒนา 5G ของไทยอย่างเต็มรูปแบบ