ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
แพทย์ มอ.หาดใหญ่ เผยผลสำเร็จใช้พลาสมารักษาผู้ป่วยโควิด-19 เป็นรายแรกภาคใต้
20 พ.ค. 2563

ที่จังหวัดสงขลา สถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด 19 ดีขึ้น ขณะนี้เหลือผู้ป่วยที่ยังคงพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเพียงแค่ 3 รายเท่านั้น จากยอดสะสมผู้ป่วยทั้งจังหวัด 128 คน ทั้งผู้ป่วยในจังหวัด ผู้ป่วยนอกจังหวัด กลุ่มดาวะห์อินโดนีเซีย และกลุ่มต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่ศูนย์กักตัว ตม.สงขลา นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับโควิด 19 คือ การที่ทางแพทย์โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สามารถใช้พลาสมาจากผู้ป่วยที่หายจากโควิดไปทำการรักษาผู้ป่วยโควิดอาการวิกฤติหายจนหายได้เป็นปกติได้เป็นครั้งแรกของภาคใต้

รศ.นพ.ศรัญญู ชูศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทางโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้ทำการรักษาผู้ป่วยโควิดไปแล้ว 30 ราย โดยส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นผู้ป่วยหรือคนไข้อาการวิกฤติ ซึ่งจะถูกนำมารักษาตัวที่หอผู้ป่วยแยกโรคติดเชื้อ 1 อาคารฉุกเฉินหลังเก่า ชั้น 5 ซึ่งมีการแบ่งเป็น 3 โซน โซนละ 4 เตียง รวม 12 เตียง ส่วนผู้ป่วยที่รักษาหาย หรือรอฟักฟื้น หรืออาการไม่หนักมากแล้ว จะถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สาขา 2 (Songkhla COVID-19 Recovery Camp) ณ อาคารติณสูลานนท์ ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ สวนประวัติศาสตร์ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อ.เมือง จ.สงขลา

รศ.นพ.ศรัญญู กล่าวว่า สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิด โดยใช้พลาสมาจากผู้ป่วยโควิดที่หายเป็นปกติ และประสบความสำเร็จเป็นรายแรกของภาคใต้นั้น ผู้ป่วยรายดังกล่าวเป็นเพศชาย ซึ่งทางโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้ส่งทีมแพทย์และพยาบาลเดินทางไปรับตัวผู้ป่วยรายนี้มาจาก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากมีอาการหนัก ปอดอักเสบรุนแรง ออกซิเจนในเลือดและค่าการหายใจแย่ลง เกิดเป็นอาการหายใจล้มเหลว และต้องใส่ท่อช่วยหายใจ

นอกจากนี้หลังจากมีการให้ยารักษาสูตรมาตรฐานหรือยาต้านไวรัสเป็นเวลา 3 วัน ผู้ป่วยก็ไม่ได้มีอาการดีขึ้น และเป็นเวลาเดียวกันกับที่ทางโรงพยาบาลสงขลานคินทร์ ได้รับบริจาคพลาสมาจากผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโควิดจากทางโรงพยาบาล และหายป่วยเป็นคนแรก ทางทีมแพทย์จึงตัดสินใจในการใช้พลาสมาที่ได้รับบริจาคในครั้งนี้จำนวน 600 ซีซี มาทำการรักษาผู้ป่วยวิกฤติชาว จ.นราธิวาส รายดังกล่าว

โดยวิธีการรักษาผู้ป่วยด้วยการใช้พลาสมานั้นเป็นวิธีการรักษาทางเลือก และใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการใช้ยาตามสูตรมาตรฐาน หรือยาต้านไวรัสเท่านั้น ซึ่งกรณีนี้แพทย์ได้ให้พลาสมาแก่ผู้ป่วยไปทั้งหมด 2 โดส หรือครั้งละ 200 ซีซี ติดต่อกันเป็นจำนวน 2 ครั้ง และผลปรากฏว่า ในระยะเวลา 3-4 วัน ผู้ป่วยก็มีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และสามารถถอดเครื่องช่วยหายใจได้ในวันที่ 4 หลังได้รับพลาสมา และพักฟื้นจนกระทั่งหายเป็นปกติ และสามารถเดินทางกลับบ้านได้แล้วเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา

รศ.นพ.ศรัญญู กล่าวอีกว่า การรักษาด้วยพลาสมาเป็นวิธีการรักษาทางเลือก และผู้ป่วยรายนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกของภาคใต้ที่ประสบความสำเร็จในการรักษาโดยการใช้พลาสมาจากผู้ป่วยที่หายเป็นปกติแล้ว แต่สำหรับการรักษาด้วยพลาสมานี้เป็นเพียงการรักษากรณีแรกเท่านั้น และไม่ใช่ว่าผู้ป่วยโควิดทุกคนจะสามารถรักษาด้วยพลาสม่าแล้วจะหายเป็นปกติได้ทุกราย

ก่อนจะมีการใช้พลาสม่ารักษาทางแพทย์จะต้องมีการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด และรอบคอบในทุกๆด้าน โดยเฉพาะความเป็นไปได้หรือความเข้ากันได้ของเลือดหรือสิ่งประกอบเลือดระหว่างผู้บริจาคและผู้รับบริจาคเป็นเคสๆไป และไม่จำเป็นต้องมีกรุ๊ปเลือดที่ตรงกันเสมอไป โดยเคสนี้ผู้บริจาคพลาสมามีเลือดกรุ๊ปบี ส่วนผู้รับบริจาคมีเลือดกรุ๊ปโอ

ทั้งนี้ ทางแพทย์ได้ขอเชิญชวนให้ผู้ป่วยโควิดที่รักษาหายเป็นปกติแล้วร่วมบริจาคพลาสมา เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด โดยเฉพาะในรายที่วิกฤติหรือมีอาการหนัก หากมีความเข้ากันได้ก็จะสามารถใช้ในการรักษาผู้ป่วยให้หายได้ ซึ่งสามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่คลังเลือด โดยที่ จ.สงขลา สามารถแจ้งบริจาคได้ที่คลังเลือดของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยพลาสมาที่บริจาคแต่ละครั้งจะมีปริมาณ 400-600 ซีซี และสามารถเก็บเอาไว้ได้นานเกือบ 1 ปี

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...