นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิต และส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญ กรมส่งเสริมการเกษตรได้มุ่งเน้นให้เกิดกระบวนการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี เพื่อให้ผลผลิตได้มาตรฐานปลอดภัย และคุณภาพเป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภค ตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) ซึ่งเป็นระบบที่ป้องกันหรือลดความเสี่ยงของอันตรายที่เกิดขึ้นในสินค้าเกษตรและอาหาร มาตรฐานสากลที่สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค และเป็นมาตรฐานที่ครอบคลุมการผลิตสินค้าเกษตรอย่างครบวงจร ตั้งแต่ การผลิต การเก็บเกี่ยว การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ และการขนส่ง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค
ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมวิชาการเกษตร จึงได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วย การบริหารความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการ และดำเนินการเกี่ยวกับการรับรองแหล่งผลิตพืชตามระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP พืช) การพัฒนาและขยายผลงานวิจัยด้านการเกษตรที่มีศักยภาพสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทางการเกษตร การบริหารจัดการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิตให้สอดคล้องกับการนำไปใช้ประโยชน์ ร่วมวิจัยและพัฒนาทางวิชาการในการแก้ไขปัญหาทางการเกษตร พัฒนาบุคลากรทั้งสองฝ่ายในด้านการวิจัย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เทคโนโลยีด้านการเกษตร รวมทั้งขับเคลื่อนการดำเนินงานนโยบายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เป็นต้น
สำหรับแนวทางความร่วมมือ ประกอบด้วย 1) ร่วมกันบริหารจัดการ สนับสนุนและช่วยเหลือเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการความปลอดภัยอาหารด้านพืช (Food Safety) เกี่ยวกับการรับรองแหล่งผลิตพืช ตามระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP พืช) 2) กรมวิชาการเกษตรส่งมอบหรือถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรมการผลิตพืชและเครื่องจักรกลการเกษตรที่พร้อมใช้ประโยชน์แก่กรมส่งเสริมการเกษตร 3) การเฝ้าระวังศัตรูพืช 4) ร่วมกันบริหารจัดการเพื่อการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต 5) ทำงานวิจัย (On Farm Research) และการพัฒนาด้านวิชาการเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเกษตร 6) ร่วมกันดำเนินงานนโยบาย/โครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เกษตรอินทรีย์ ฯลฯ และ 7) มอบหมายบุคลากรเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อขับเคลื่อนงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้จะร่วมกันดำเนินการเป็นระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 – 2567
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า จากบันทึกข้อตกลงดังกล่าวกรมส่งเสริมการเกษตรจะเข้าไปอบรมเกษตรกรให้เข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติในการผลิตสินค้าเกษตรตามระบบมาตรฐาน GAP พืช โดยติดตามให้คำปรึกษาแนะนำเกษตรกรและดำเนินการตรวจประเมินแปลงเบื้องต้น จากนั้นจะส่งข้อมูลเกษตรกรที่ผ่านประเมินแปลงเบื้องต้นไปให้กรมวิชาการเกษตรผ่านระบบ GAP Online เพื่อให้การรับรองแหล่งผลิตพืชของเกษตรกร และการตรวจติดตามแปลงที่ได้การรับรองแล้ว ซึ่งเกษตรกรจะได้ประโยชน์อย่างมากจากการเข้าร่วมปลูกพืชตามระบบมาตรฐาน GAP คือ ได้ความรู้เรื่องการผลิตพืชอย่างมีระบบ ทำให้ลดต้นทุนการผลิต และป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้อง ผลผลิตมีคุณภาพ ปลอดภัยจากการปนเปื้อนสารเคมี และศัตรูพืชเป็นที่ต้องการของตลาด ผู้ซื้อได้บริโภคพืชผัก ผลไม้ที่ปลอดภัย มีคุณภาพดี ทำให้มีสุขภาพแข็งแรง และเกษตรกรมีรายได้จากการขายพืชผัก ผลไม้ที่ปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรต่อไป