วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม 2563
วันนี้ (21 พฤษภาคม 2563) เวลา 10.00 น. นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ได้แถลงผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 4 เรื่อง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.เรื่องกล่าวหา นางบังอร วิลาวัลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี กับพวก กรณีดำเนินโครงการก่อสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 15 โครงการ เมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยมิชอบ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องกล่าวหา นางบังอร วิลาวัลย์ นายกองค์การ บริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี กับพวก กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 15 โครงการ ปรากฏข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อปี พ.ศ. 2555 ขณะ นางบังอร วิลาวัลย์ ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี ได้ประกาศประมูลจ้างเหมาก่อสร้างและซ่อมแซมถนน งานซ่อมแซมคอสะพาน งานขุดลอกคลอง ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 15 โครงการ วงเงิน 52,522,000 บาท
นางบังอร วิลาวัลย์ ได้จัดประชุมนอกรอบโดยเรียกรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี เพื่อแจ้งให้ทราบว่าแต่ละอำเภอจะได้โครงการก่อสร้างในเขตพื้นที่กี่โครงการ โครงการอะไรบ้าง และต่อมา นางบังอร วิลาวัลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี ได้มอบหมายตัวแทนไปประชุมกับตัวแทนผู้รับเหมาในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีเพื่อตกลงแบ่งงานโครงการก่อสร้างทั้ง 15 โครงการ ให้กับผู้รับเหมาก่อสร้าง และเมื่อจัดสรรงานให้กับผู้รับเหมาก่อสร้างรายใดแล้ว ผู้รับเหมาก่อสร้างต้องจ่ายเงินค่าฮั้วประมูลเป็นเงิน 8 - 9 เปอร์เซ็นต์ของราคากลางจึงจะสามารถซื้อเอกสารประมูลการจ้าง ยื่นเอกสารประมูลจ้าง และได้เป็นผู้ชนะการประมูลทำสัญญาจ้างกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรีได้ โดยนางบังอร วิลาวัลย์ ได้มอบหมายให้นายสถิต เนมียะ เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี เป็นผู้รับเงินค่าฮั้วงานทั้ง 15 โครงการดังกล่าว
ต่อมาในระหว่างวันที่ 5 - 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ซึ่งเป็นวันเวลาราชการที่มีการขายเอกสารประมูลจ้างทั้ง 15 โครงการดังกล่าว นายเต็มพงษ์ ฤทธิ์เดช สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรีกับพวก ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการขายเอกสารประมูลจ้างได้แยกย้ายกันอยู่โดยรอบสำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี และห้องขายเอกสารประมูลจ้าง โดยแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อคอยกีดกันขัดขวางไม่ให้ผู้ที่สนใจ เข้าซื้อเอกสารประมูลจ้างได้ รวมทั้งเสนอให้รับเงินตอบแทนเป็นค่าใช้จ่ายแล้วไม่ต้องเข้าซื้อเอกสารประกวดราคา จนทำให้ผู้รับเหมาก่อสร้างรายอื่นต้องตกลงยินยอมจะรับเงินโอนเข้าบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายแล้วก็กลับออกไปโดยไม่ซื้อเอกสารประกวดราคา
ผลจากการกีดกันขัดขวางการเข้าซื้อเอกสารประกวดราคาดังกล่าว ทำให้มีผู้เข้าซื้อเอกสารประกวดราคาจำนวนไม่กี่ราย โดยทั้ง 15 โครงการจะมี ห้างหุ้นส่วนจำกัด จำนวน 2 ห้าง ซื้อเอกสารทุกโครงการ ในลักษณะเป็นเพียงคู่เทียบเสนอราคา และในแต่ละโครงการจะมีผู้รับเหมาก่อสร้างอีกหนึ่งรายที่จะซื้อเอกสารประกวดราคาเพียง 1 – 3 โครงการ
ในวันที่กำหนดให้ผู้ซื้อเอกสารประมูลจ้างทั้ง 15 โครงการ มาดูสถานที่ตามโครงการและรับฟังคำชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม แต่ไม่ปรากฏว่าผู้ซื้อเอกสารทั้ง 15 โครงการ ได้มาดูสถานที่ตามที่กำหนดในเงื่อนไขในประกาศองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรีแต่อย่างใด
ต่อมาในวันที่ 29 และวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ได้มีการเสนอราคาแข่งขันกันด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ปรากฏว่าผู้เสนอราคาได้มีการเสนอราคากันเพียงครั้งเดียว โดยไม่มีการเสนอราคาแข่งขันกันตามปกติวิสัยของวิญญูชนทั่วไปที่ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างที่มุ่งหวังในการชนะการแข่งขันเสนอราคา โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดทั้ง 2 รายที่ซื้อเอกสารประมูลจ้างและเข้าร่วมแข่งขันเสนอราคาทั้ง 15 โครงการ ไม่ชนะการเสนอราคาทั้ง 15 โครงการ แต่จะมีผู้รับเหมารายที่ตกลงไว้ที่ซื้อเอกสารประกวดราคาเพียง 1 - 3 โครงการ เป็นผู้ชนะการเสนอราคา โดยหากซื้อโครงการใดก็จะเป็นผู้ชนะการเสนอราคาโครงการนั้น
ต่อมานายศิริศักดิ์ พลากุลมณฑล รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี ปฏิบัติราชการแทน นางบังอร วิลาวัลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี ได้ลงนามอนุมัติให้มีการสั่งจ้างในวันที่เสนอรายงานผลการพิจารณาประกวดราคา จากนั้นได้เรียกผู้ชนะการเสนอราคามาทำสัญญาจ้างกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี
ในระหว่างการขายเอกสารประกวดราคาเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ตำรวจภูธรภาค 2 ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบร่วมกับตัวแทนห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่ง เข้าซื้อเอกสารประมูลงานก่อสร้าง 15 โครงการดังกล่าว แต่กลับถูกนายเต็มพงษ์ ฤทธิ์เดช กับพวก ขัดขวางมิให้เข้าซื้อเอกสาร โดยนายเต็มพงษ์ ฤทธิ์เดช ได้เสนอเงินให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเพื่อมิให้เข้าซื้อเอกสารประมูลงาน เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบไม่สามารถซื้อเอกสารประมูลงานได้ ต่อมาพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานและ ขอออกหมายจับนายเต็มพงษ์ ฤทธิ์เดช กับพวก ในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และตำรวจภูธรภาค 2 ได้มีหนังสือถึงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี แจ้งว่าในการขายเอกสารประกวดราคามีการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 องค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี จึงได้มีหนังสือไปยังผู้รับจ้างทั้ง 15 โครงการ บอกเลิกสัญญาจ้าง
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่า
การกระทำของนางบังอร วิลาวัลย์ มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน เรียกรับทรัพย์สิน สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ ฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจ ในตำแหน่งโดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมีมูลความผิดฐานปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 79
การกระทำของนายศิริศักดิ์ พลากุลมณฑล มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการ
เสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมีมูลความผิด ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 79
การกระทำของนายสถิตย์ เนมียะ มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ
พ.ศ. 2542 มาตรา 5 วรรคสอง และมาตรา 12
การกระทำของห้างหุ้นส่วนจำกัดและหุ้นส่วนผู้จัดการ ที่ตกลงร่วมกันในการเสนอราคา จำนวนรวม 19 ราย มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ให้ส่งรายงาน ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี กับผู้ถูกกล่าวหา และไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ
2.เรื่องกล่าวหา นายเชษฐา ปทุมรังสี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลท่าหลวง กับพวก ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีก่อสร้างสะพานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง เรื่องกล่าวหา นายเชษฐา ปทุมรังสี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลท่าหลวง กรณีก่อสร้างสะพานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่เป็นไปตามแบบ เป็นเหตุให้สะพานพังถล่ม มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ ปรากฏข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อปี พ.ศ. 2553 เทศบาลตำบลท่าหลวง ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 ตำบลท่าหลวง เพื่อทดแทนสะพานเดิมที่เสียหาย โดยให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตรวจสอบรับรองแบบแปลนที่เทศบาลตำบลท่าหลวงส่งให้ พร้อมให้ส่งบุคลากรเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในโครงการก่อสร้างสะพานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีด้วย สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้มอบหมายให้นายวรพจน์ นุชิต วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ เป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบรับรองแบบแปลนและส่งบุคลากรตามที่เทศบาลตำบลท่าหลวงร้องขอ เมื่อนายวรพจน์ นุชิต ได้ออกแบบเสร็จแล้ว ได้กำหนดรายชื่อเจ้าหน้าที่ โดยให้นายอนุวัติ วิชัยโย วิศวกรโยธาปฏิบัติการ เข้าร่วมเป็นผู้ควบคุมงาน นายมานพ ธูปทอง นายช่างโยธาชำนาญงาน เข้าร่วมเป็นกรรมการตรวจการจ้าง และนายวรพจน์ นุชิต วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ เข้าร่วมเป็นกรรมการประกวดราคา ในโครงการก่อสร้างสะพานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ก่อนที่เทศบาลตำบลท่าหลวงจะประกาศประมูลจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e - Auction) โครงการก่อสร้างสะพานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี นายวรพจน์ นุชิต ได้ขอให้นายมนตรี เคหนาดี ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดี ไนซ์ (2009) จำกัด และเป็นน้องเขย เข้าร่วมประมูลงานจ้างโดยให้ช่วยเหลือด้านเอกสารในการประมูลงานโครงการดังกล่าวทั้งหมด ภายหลังจากที่เทศบาลตำบลท่าหลวงได้ประกาศประมูลจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) โครงการก่อสร้างสะพานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ปรากฏว่ามีผู้สนใจยื่นเอกสารประมูลจ้าง จำนวน 18 ราย หนึ่งในนั้นมีบริษัท ดี ไนซ์ (2009) จำกัด ได้นำผลงานของห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่งไปยื่นเสนอราคา คณะกรรมการดำเนินการประมูลจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) ซึ่งมี นายวรพจน์ นุชิต
เป็นกรรมการร่วมอยู่ด้วย ได้พิจารณาให้มีผู้ผ่านการคัดเลือก รวมทั้งสิ้น 11 ราย โดยมีบริษัท ดี ไนซ์ (2009) จำกัด รวมอยู่ด้วย เทศบาลตำบลท่าหลวงจึงได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกและกำหนดวันประมูล
ผลการประมูลปรากฏว่า บริษัท ดี ไนซ์ (2009) จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลในราคา 8,290,000 บาท และได้ทำสัญญาจ้างโครงการก่อสร้างสะพานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี กับเทศบาลตำบลท่าหลวง โดยแบ่งงานออกเป็น 5 งวด ในงวดที่ 3 เป็นงานติดตั้ง Main Cable และงานโครงสร้างพื้นสะพานเหล็ก ตามแบบรูป รายการละเอียดแนบท้ายสัญญา กำหนดให้ใช้ลวดเหล็กตีเกลียวชนิด 7 เส้น จำนวน 12 เส้น ใน 1 เส้นท่อ รับแรงดึงสูงสุดได้ 25.9 ตัน แต่นายวรพจน์ นุชิต กลับนำเชือกลวดเหล็กกล้า (STEEL WIRE ROPES) ซึ่งสามารถรับแรงดึงสูงสุดได้เส้นละประมาณ 7 ตัน และประมาณ 14 ตัน มาใช้ในการติดตั้ง Main Cable แทน โดยการปล่อยปละของนายอนุวัติ วิชัยโย และนายสันติธรรม สีนวนสกุลณี ซึ่งเป็นผู้ควบคุมงาน ไม่ทำการควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบรูปรายการละเอียดและข้อกำหนดในสัญญา
วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2554 การก่อสร้างงานงวดที่ 3 แล้วเสร็จ บริษัท ดี ไนซ์ (2009) จำกัด ได้ส่งมอบงานงวดที่ 3 นายอนุวัติ วิชัยโย และนายสันติธรรม สีนวนสกุลณี ผู้ควบคุมงาน ได้มีบันทึกถึงคณะกรรมการตรวจการจ้าง รับรองว่า “งานในงวดที่ 3 เสร็จเรียบร้อยแล้วเป็นไปตามรูปแบบแปลนแผนผังและรายการประกอบแบบแนบท้ายสัญญาทุกประการ” จากนั้น นายวรพจน์ นุชิต ได้ทำการปลอมผลทดสอบแรงดึงชิ้นส่วนเหล็กของ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมาใช้รับรองวัสดุก่อสร้าง และส่งให้แก่เทศบาลตำบลท่าหลวง เมื่อเทศบาลตำบลท่าหลวงได้รับผลทดสอบ และได้รับการยืนยันจากผู้ควบคุมงานว่าถูกต้องตามแบบ จึงได้เบิกจ่ายเงินงวดที่ 3 ให้แก่ผู้รับจ้าง โดยมีนายมนตรี เคหนาดี เป็นผู้รับเช็คแทนนายวรพจน์ นุชิต
เมื่อก่อสร้างสะพานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี แล้วเสร็จตามสัญญา ปรากฏว่าผ่านไปประมาณ 5 เดือน Main Cable ของสะพานทั้งด้านซ้ายและขวามีค่าระดับไม่เท่ากัน เทศบาลตำบลท่าหลวงจึงมีหนังสือแจ้งให้บริษัท ดี ไนซ์ (2009) จำกัด เข้าทำการซ่อมแซมรวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง แต่ปรากฏว่าในวันที่ 28 เมษายน 2556 ก่อนที่บริษัท ดี ไนซ์ (2009) จำกัด จะเข้าซ่อมแซม สะพานดังกล่าวได้พังถล่มลงมาเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติว่า การกระทำของ นายวรพจน์ นุชิต มีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงาน เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 มาตรา 157 และฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานซึ่งเป็น ผู้ควบคุมงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
สำหรับบริษัท ดีไนซ์ (2009) จำกัด และนายมนตรี เคหนาดี กรรมการผู้จัดการ ได้ยินยอมให้นายวรพจน์ นุชิต อาศัยชื่อบริษัท ดี ไนซ์ (2009) จำกัด เข้าเสนอราคาโครงการก่อสร้างสะพานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี และให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ แก่นายวรพจน์ นุชิต มีมูลความผิดทางอาญา ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และฐานสนับสนุน เจ้าพนักงานซึ่งเป็นผู้ควบคุมงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
นายอนุวัติ วิชัยโย และนายสันติธรรม สีนวนสกุลณี ในฐานะผู้ควบคุมงาน มีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 162 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา123/1 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงคณะกรรมการดำเนินการประมูลจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) และคณะกรรมการตรวจการจ้างมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
สำหรับ นายเชษฐา ปทุมรังสี ในฐานะนายกเทศมนตรีตำบลท่าหลวง ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการดำเนินการจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) และอนุมัติเบิกจ่ายเงินงวดที่ 3 ให้กับบริษัท ดี ไนซ์ (2009) จำกัด เนื่องจากกระบวนการดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแล้ว ส่วนกรณีสะพานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ที่ชำรุดเสียหาย นายเชษฐา ปทุมรังสี ได้ดำเนินการแจ้งให้ผู้รับจ้างเข้าทำการซ่อมแซมจำนวน 4 ครั้ง และได้ตรวจสอบสะพานอยู่เป็นระยะ จึงไม่อาจฟังได้ว่าการไม่สั่งปิดสะพานดังกล่าวมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด จึงไม่มีมูลความผิดทางอาญา แต่การที่ทราบแล้วว่าสะพานมีความชำรุดเสียหายและทำการซ่อมแซมหลายครั้งก็ยังคงชำรุดเสียหาย
กลับไม่จัดการดูแลปล่อยให้มีการใช้สะพานสัญจรไปมาโดยไม่สั่งปิดสะพานดังกล่าวตามอำนาจหน้าที่ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 เพื่อป้องกันผลที่จะเกิดขึ้น กระทั่งวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556 สะพานดังกล่าว ก็ได้พังถล่มลงมา มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก จึงมีมูลเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ มีความประพฤติในทางจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่ง หรือแก่เทศบาลหรือแก่ราชการ ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 73
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ส่งรายงานไปยังอัยการสูงสุด เพื่อฟ้องคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อดำเนินการทางวินัย และดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
3.เรื่องกล่าวหา นายนิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน กับพวก กรณีดำเนินโครงการป้องกันผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด - 19) โดยมิชอบ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณารายงานการตรวจสอบเรื่องกล่าวหา นายนิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายก องค์กรบริหารส่วนจังหวัดลำพูน กับพวก ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีดำเนินโครงการป้องกันผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (Covid - 19) โดยจัดซื้อชุดของใช้ประจำวัน (Care Set) ในราคาสูง
ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดลำพูน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ดำเนินการจัดซื้ออุปกรณ์ชุดของใช้ประจำวัน (Care Set) เพื่อสนับสนุนแก่กลุ่มเสี่ยงสูงต่อการติดต่อโรคไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid - 19) จำนวน 27,700 คน ซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่ใช้สิทธิหลักประกันถ้วนหน้า (UC) ไม่อยู่ในสิทธิหลักประกันของทางราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือประกันสังคม โดยจัดซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและการทำความสะอาดร่างกาย จำนวน 13 รายการ
ต่อมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ได้อนุมัติจ่ายขาดเงินสะสม ประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงินจำนวน 17,174,000 บาท เพื่อดำเนินการโครงการโดยไม่มีการสืบหาราคาชุดของใช้ประจำวัน (Care Set) แต่ได้ใช้ราคาชุดของใช้ประจำวัน (Care Set) จากห้าง/ร้าน ในกลุ่มเดียวกันมากำหนดคุณลักษณะและราคากลาง ในราคา ชุดละ 590 บาท ในขั้นตอนการจัดซื้อ คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจง ได้มีหนังสือเชิญไปยังห้าง/ร้าน จำนวน 5 แห่ง เพื่อให้เข้ามายื่นเสนอราคาในการจัดซื้อชุดของใช้ประจำวัน (Care Set) ดังกล่าว โดยมีห้าง/ร้าน จำนวน 3 ราย มายื่นเสนอราคา โดยทั้ง 3 ราย ได้เสนอราคาเท่ากันในราคารายละ 16,343,000 บาท หรือชุดละ 590 บาท ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ได้เลือกให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ได้เป็นคู่สัญญากับองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนในวงเงิน 16,343,000 บาท
สำหรับราคาชุดของใช้ประจำวัน (Care Set) จำนวน 13 รายการ นั้น จากการสืบราคาจากห้าง/ร้านที่จำหน่ายสินค้าในจังหวัดลำพูน จำนวน 25 ร้านค้า พบว่าราคาเฉลี่ยชุดของใช้ประจำวัน (Care Set) มีราคาเฉลี่ยเพียงชุดละ 315.55 บาท การจัดซื้อขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนดังกล่าว จึงมีมูลฟังได้ว่าได้มีการจัดซื้อในราคาที่สูงกว่าในท้องตลาด และทำให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนได้รับความเสียหาย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติให้แต่งตั้งองค์คณะไต่สวนเบื้องต้น เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง นายนิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน กับพวก รวม 18 ราย ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ถูกกล่าวหา เพื่อให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อไป
4.เรื่องข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรณีศึกษา กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
ตามที่ได้ปรากฏปัญหากรณีการทุจริตของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เข้าร้องเรียนต่อเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าขณะฝึกงานที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น ถูกสั่งให้ปลอมเอกสารลายมือชื่อและข้อมูลเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์ กลุ่มส่งเสริมอาชีพ และปลอมลายมือชื่อในใบเสร็จรับเงิน ตามคำสั่งของผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่นและเจ้าหน้าที่ที่ดูแลการฝึกงานของนักศึกษา ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ได้มีการรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวแล้วสำนักงานเลขาธิการ คสช. ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวและพบว่ามีมูลตามที่ร้องเรียน โดยได้มีการรวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมกับลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และสรุปรายละเอียดเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
จากการศึกษาปัญหาการทุจริตดังกล่าวเกิดจากปัญหาการทุจริตในการบริหารจัดการงบประมาณ งบเงินอุดหนุน ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบและเกิดความเสียหายเป็นวงกว้างในระดับประเทศ ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับงบประมาณงบเงินอุดหนุนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษามาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับงบประมาณงบเงินอุดหนุน” ซึ่งมี พลเอก บุณยวัจน์ เครือหงส์ (กรรมการ ป.ป.ช.) เป็นประธานอนุกรรมการ และมีนางสาวสุภา ปิยะจิตติ (กรรมการ ป.ป.ช.) เป็นรองประธานอนุกรรมการ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาและเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตกรณีงบประมาณงบเงินอุดหนุน ในกรณีสำคัญต่าง ๆ อาทิ กรณีการเบิกจ่ายเงินโครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ กรณีเงินอุดหนุนวัด กรณีเงินอุดหนุนสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวของนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะกรณีปัญหาการทุจริตในการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริต กรณีเงินอุดหนุนของกระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการศึกษา รวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ปัญหากรณีเงินอุดหนุนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมทั้งเสนอมาตรการหรือข้อเสนอแนะในการปรับปรุงและแก้ไขปัญหาเพื่อป้องกันการทุจริตในเรื่องดังกล่าว
ในการนี้ จากผลการศึกษาปัญหาการทุจริตของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบและเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง และสะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาการรั่วไหลของงบประมาณงบเงินอุดหนุนที่เกิดจากการกระทำทุจริตในหลายขั้นตอน ทั้งในด้านกฎ ระเบียบ ข้อบังคับทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง วิธีการและแนวทางปฏิบัติของผู้ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงหรือมีช่องว่างที่อาจกระทำการทุจริตได้ รวมทั้งระบบการติดตาม ประเมินผล และการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณงบเงินอุดหนุนที่ไม่รัดกุม รอบคอบ ตลอดจนปัญหาในด้านการจัดทำฐานข้อมูลผู้ประสบปัญหาทางสังคมของประเทศไทย และการบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว เห็นสมควรเสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรณีศึกษา กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ต่อคณะรัฐมนตรี ตามนัยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เพื่อเสนอแนะให้มีการปรับปรุงการบริหารจัดการการใช้จ่ายเงินงบประมาณงบเงินอุดหนุนในภาพรวมของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีส่วนราชการภายใต้สังกัดที่มีภารกิจหน้าที่และอำนาจที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสวัสดิการสังคมหลากหลายกลุ่มเป้าหมาย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยมีข้อเสนอแนะในประเด็นสำคัญ 3 ด้าน ดังนี้
1.ด้านการจัดทำระบบฐานข้อมูลผู้ประสบปัญหาทางสังคมของประเทศไทยควรจัดทำฐานข้อมูลผู้ประสบปัญหาทางสังคมของประเทศไทยและดำเนินการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับเลขประจำตัวประชาชนเพื่อให้เกิดการบูรณาการการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2. ด้านเบิกจ่ายเงินงบประมาณงบเงินอุดหนุนควรทบทวน ปรับปรุง กฎหมาย ระเบียบ วิธีการที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณงบเงินอุดหนุน เงินสงเคราะห์ ให้มีความชัดเจน เหมาะสมกับสถานการณ์ และมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภารกิจด้านการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ให้แก่ประชาชน เพื่อลดความซ้ำซ้อน ความผิดพลาด และโอกาสการทุจริต
3. ด้านการติดตาม ประเมินผล และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณงบเงินอุดหนุน
ควรจัดทำแผนการตรวจสอบประเด็น/ขั้นตอนที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริตในการดำเนินการใช้จ่ายงบประมาณงบเงินอุดหนุน มีการสุ่มตรวจสอบ และกำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลที่มีความเหมาะสม รวมทั้งมีการเปิดเผยผลการติดตามและประเมินโครงการต่อสาธารณะ
การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด