นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในจังหวัดนครราชสีมา ว่า ปริมาณน้ำฝนของจังหวัดฯ ในปี 2561 ต่ำกว่ามาตรฐาน หรือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 15% และ เมื่อเข้าปี 2563 ก็ประสบปัญหาภัยแล้งอีก จนปลายปี 2562 น้ำฝนที่ตกลงในพื้นที่จังหวัด ก็ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 30% ทำให้ 4 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และ 23 อ่างเก็บน้ำขนาดกลางของจังหวัด ปัจจุบันมีปริมาณเพียง 19% และใช้การได้แค่ 17% ทางกรมชลประทาน ก็เร่งสนับสนุนการแก้ปัญหาภัยแล้งของจังหวัดฯ เพราะแล้งต่อเนื่องมาเป็นเวลา 2 ปีติดกันแล้ว
ซึ่งอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง เหลือปริมาณน้ำต่ำสุดในจำนวน 4 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของจังหวัดนครราชสีมา โดยเหลือปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 8% ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 แห่ง มี 9 แห่ง ที่น้ำใช้การ 0% ส่วนที่เหลือส่วนใหญ่จะต่ำกว่า 30 % ดังนั้น ในฤดูนาปีที่เกษตรเคยทำนา จะหยุดไม่ให้ทำนาก็คงไม่ได้ เพราะตอนนี้ทุกคนโดยเฉพาะเกษตรประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤตภัยแล้ง และวิกฤตโควิด-19 ระบาด ทำให้เศรษฐกิจถดถอยไปด้วย ชาวนาจึงจำเป็นต้องทำนาเพื่อให้มีรายได้เข้าจุนเจือครอบครัว
กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์สภาพอากาศในฤดูฝนปีนี้ว่า ปริมาณน้ำในฤดูฝนจะต่ำกว่า 5 % ของค่าเฉลี่ย แต่ยังมากกว่าปีที่แล้ว ซึ่งจังหวัดนครราชสีมา คาดว่า จะมีฝนตกค่าเฉลี่ยทั้งหมดอยู่ที่1,170 มิลลิเมตร แต่ทั้งนี้อาจมีฝนทิ้งช่วงในปลายเดือนมิถุนายน ถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2563 เกษตรกรจึงต้องพิจารณาสภาวะอากาศประกอบการเพาะปลูกด้วย โดยต้องเน้นเรื่องในฝนเป็นหลักก่อนปลูกด้วย
อย่างไรก็ตาม ทางกรมชลประทานกำลังรณรงค์ประชาสัมพันธ์พี่น้องเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องการติดตามข่าวสารข้อมูลสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ว่า ขณะนี้ได้ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ปริมาณน้ำฝนตกสม่ำเสมอในช่วงใดบ้าง และมีน้ำในพื้นที่เพาะปลูกเพียงพอหรือไม่ เกษตรกรจะต้องติดตามข่าวสารตรงนี้อย่างใกล้ชิดด้วย นอกจากนี้ ในช่วงฝนทิ้งช่วง พื้นที่เกษตรเขตชลประทาน ก็ต้องใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำมาเสริมเพื่อให้เพียงพอต่อการเพาะปลูก ทดแทนช่วงที่ฝนที่หายไป ซึ่งทางอ่างเก็บน้ำก็ต้องมีน้ำสำรองไว้ส่งจ่ายได้ด้วย ถ้าฝนตกปกติเกษตรกรก็ต้องใช้น้ำฝน เพราะชลประทานต้องเก็บกักน้ำสำรองไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก และต้องรับมือไม่ให้ประสบภัยแล้งขาดแคลนน้ำเป็นปีที่ 3 ซึ่งคาดหวังว่า ปีนี้จะมีน้ำกักเก็บในแต่ละอ่างเก็บน้ำไม่น้อยกว่า 50 % ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานจะใช้น้ำฝนเป็นหลักอยู่แล้ว แต่อยากให้เกษตรกรคำนึงถึงปัญหาฝนทิ้งช่วงด้วย โดยนำวิธีแกล้งข้าว เปลี่ยนสลับข้าว หรือยกคันนาให้สูงขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำในนาข้าว ตามพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ ซึ่งพื้นที่นา 1 ไร่ควรจะมีน้ำสำรองไว้ประมาณ 200-300 ลูกบาศก์เมตร หรือเลื่อนการเพาะปลูกออกไปให้พ้นฝนทิ้งช่วงไปก่อนแล้วค่อยเริ่มทำ
ทั้งนี้ ปริมาณน้ำ 4 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของจังหวัดนครราชสีมา ล่าสุด อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว เหลือน้ำ 92 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 29.41 % เป็นน้ำใช้การได้เพียง 69 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 23.91% ขณะที่อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย เหลือน้ำ 13 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 8.62% เป็นน้ำใช้การได้ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 8.19%, อ่างเก็บน้ำมูลบน อ.ครบุรี เหลือน้ำ 26ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 18.91% เป็นน้ำใช้การได้ 19 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 14.67% และอ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี เหลือน้ำ 39 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 14.40% เป็นน้ำใช้การได้ 32 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 12.16% ขณะที่ 23 อ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่จังหวัด เหลือน้ำรวม 58 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 17.74% และเป็นน้ำใช้การได้ 34 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 34.34% เท่านั้น จึงถือว่าอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ที่จะต้องบริหารจัดการอย่างเข้มงวดและรอบคอบ