ทีมวิจัยจุฬา เริ่มทดลองวัคซีนต้นแบบป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ในลิงแสม 10 ตัว หากได้ผลเตรียมทดลองต่อในคน
23 พ.ค. 2563 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมผู้บริหาร อว. ลงพื้นที่เตรียมการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เพื่อติดตามความคืบหน้างานวิจัยวัคซีนชนิด mRNA ที่ศูนย์วัคซีนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ให้ทุนสนับสนุน ประสบความสำเร็จในระดับดีหลังทดสอบในหนูทดลองและกำลังเตรียมจะทดสอบในลิง
ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า การทดสอบในลิงจะฉีด 3 ครั้ง สำหรับวัคซีนที่ทดลองในลิง ใช้เทคโนโลยีใหม่ของการวิจัยวัคซีน คือ ใช้สารพันธุกรรมของเชื้อ ชนิด mRNA โดยครั้งที่ 1 ฉีดวันที่ 23 พ.ค. เวลา 7.39 น. ครั้งที่ 2 นับไปอีก 4 สัปดาห์ ครั้ง 3 นับไปอีก 8 สัปดาห์ โดยหลังการทดสอบในเข็มที่ 2 จะทำให้เห็นผลการป้องกันโรคโควิด -19 ได้แล้ว โดยขั้นตอนการทดสอบในลิง ถือเป็นสัตว์ที่ตอบสนองกับไวรัสได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด โดยการทดสอบในลิงจะดูเรื่องความปลอดภัย ไม่เกิดโรคแทรกซ้อนเมื่อได้รับวัคซีน และการตอบสนอง คือ สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้จริง ก่อนที่จะทดสอบในมนุษย์ ซึ่งคาดว่าอีก 2-3 เดือนจะเริ่มทดสอบได้ ทั้งนี้ กระบวนการทดสอบในมนุษย์มี 3 ระยะ พิจารณาใน 4 ประเด็นได้แก่ ความเป็นพิษ ความปลอดภัยต่อร่างกาย การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และประสิทธิผลของวัคซีน คาดว่าจะเริ่มผลิตวัคซีนเพื่อทดสอบในคน ได้ในเดือน ส.ค.ปีนี้
สำหรับ เฟสที่ 1 ทดสอบในคนจะเริ่มจากหลักสิบคน เพื่อดูว่าวัคซีนมีความปลอดภัยหรือไม่ จากนั้น เฟสที่ 2 เพิ่มเป็นหลักร้อยถึงพันคน เพื่อดูว่าสร้างภูมิคุ้มกันได้จริง และเฟสที่ 3 จะทดสอบในหลักหลายพันคน เพื่อดูว่าใช้ได้กับประชากรจำนวนมาก โดย วัคซีนชนิด mRNA ที่ประเทศไทยใช้ เป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด มีข้อดีคือสามารถใช้ได้ผลโดยการใช้ปริมาณวัคซีนที่ไม่มากนัก
ทั้งนี้ ไทยได้มีการสั่งจองการผลิตวัคซีนกับโรงงานผลิต ซึ่งไม่เพียงแก้ปัญหาสำหรับประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นการแก้ปัญหาโรคระบาดในระดับมนุษยชาติ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายการพัฒนาวัคซีนของไทยคือให้คนไทยมีวัคซีนใช้ในเวลาที่ใกล้เคียงกับประเทศชั้นนำทั่วโลก โดยขณะนี้การทดลองวัคซีนส่วนใหญ่ในโลกนี้อยู่ในขั้นตอนที่ไล่เลี่ยกันกับประเทศไทย คือ การทดสอบในสัตว์ทดลอง มีเพียง 6-7 แบบที่ทดลองในคนในระยะที่ 1 แล้ว เช่น ของจีนและสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
นอกจากนี้ สิ่งที่ยังดำเนินการยังมีมากกว่า 1 วิธีการ โดยดำเนินยุทธศาสตร์ 3 แนวทางคู่ขนานกันคือ 1.การวิจัยและทดลองในประเทศไทย สร้างวัคซีนใช้เอง เพื่อยืนบนขาของตัวเอง 2.การร่วมมือกับนานาชาติ และ 3.การเตรียมความพร้อมในการผลิตวัคซีนที่ผ่านการทดลองและพิสูจน์ว่าใช้ได้ผลให้คนไทยได้ใช้อย่างทั่วถึง เพราะนายกรัฐมนตรี ให้นโยบายมาว่า คนไทยต้องมีวัคซีนใช้ในเวลาเดียวกับประเทศชั้นนำอื่นๆ คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน
“ที่สำคัญ ขณะนี้ ศูนย์ไพรเมท วางแผนในระยะยาวคือการสร้างอาคารวิจัยวัคซีนโรคติดเชื้อทางอากาศ ซึ่งจะทำให้การวิจัยพัฒนาและการทดสอบวัคซีนมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น ครอบคลุมโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ เหมือนอย่างในกรณีโรคโควิด-19” ดร.สุวิทย์ กล่าว