ประเทศไทย คือประเทศที่เขาว่ากันว่าน้ำมันแพ๊งแพง แพงกว่าเขาไปทั่วหล้า แพงกว่าพม่ารามัญ แพงกว่าดินแดนแถบมะละกาที่ชื่อมาเลเซีย แต่ไม่ได้แพงกว่าประเทศติดกันอย่างลาว (ไม่นานมานี้เพิ่งได้ดูยูทูปคนลาวบ่นราคาน้ำมันบ้านตัวเองโดยเทียบกับน้ำมันไทย) ถามว่าราคาน้ำมันแพงกว่าชาวบ้าน เรียกได้ว่าปล้นคนไทย ปล้นประเทศไทยจริงไหม? …มันจะเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร ในเมื่อประเทศไทยอ้างอิงราคาจากตลาด (ทั้งนี้ภาษีน้ำมัน ราคาน้ำมันจะมีแตกต่างกันบ้างเนื่องจากคุณภาพน้ำมันที่ไม่เท่ากัน)
โครงสร้างราคาน้ำมัน คือคำตอบว่าทำไมราคาน้ำมันที่อ้างอิงจากแหล่งราคาที่เดียวกัน ถึงมีราคาแตกต่างกัน โดยโครงสร้างราคา ประกอบด้วย ราคาหน้าโรงกลั่น ภาษีน้ำมัน กองทุน และค่าการตลาด ซึ่งในส่วนของราคาหน้าโรงกลั่นคือราคาที่อ้างอิงมาจากตลาด ค่าการตลาดคือกำไรที่แบ่งกันระหว่างเจ้าของแบรนด์กับเจ้าของปั๊ม (ตัวเลขค่าการตลาดนี้สถาบันปิโตรเลียมได้คำนวณตัวเลขที่เหมาะสมประมาณ 1.7-2.0 บาท (ถือว่าน้อยมาก)) ดังนั้นหลักๆ ที่ทำให้เกิดความแตกต่างของราคาน่าจะอยู่ที่ ภาษีต่างๆ และกองทุนน้ำมัน โดยกองทุนน้ำมัน เป็นสิ่งที่เราพูดกันบ่อย เหตุผลหลักที่ต้องมีเหมือนการทำประกันราคา ยามราคาน้ำมันผันผวน (ส่วนนี้จะขอข้ามไปเนื่องจากมีการอธิบายแล้วในบทความก่อนๆ) จึงเหลืออีกหนึ่งเหตุผลที่จะพูดกันคือเรื่องของภาษีน้ำมัน
ประเทศไทย จัดให้น้ำมันเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย จึงทำให้ประชาชนบางกลุ่มเกิดคำถามว่า ในเมื่อน้ำมันเป็นสินค้าจำเป็น ที่เกือบทุกคนต้องใช้ ทำไมจึงจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีการเก็บภาษีน้ำมันในราคาแพง เรื่องนี้ประชาชนต้องทำความเข้าใจว่า ไม่ใช่ว่าสินค้าไหนมีการใช้เยอะหรือมีความจำเป็น แล้วจะต้องเป็นสินค้าที่มีภาษีต่ำ รัฐบาลจำเป็นต้องดูเหตุผลอื่นๆ ในการประกอบ
เหตุผลที่รัฐบาลต้องเก็บภาษีน้ำมันแพง
• น้ำมันเป็นสินค้าที่ต้องนำเข้า ยิ่งนำเข้ามากเท่าไหร่ การเสียดุลทางการค้ายิ่งมากขึ้น จึงจำเป็นต้องเก็บภาษีน้ำมันราคาสูงเพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญและช่วยกันประหยัดทรัพยากร
• น้ำมันทำให้เกิดมลพิษ รัฐจำเป็นต้องเก็บภาษีน้ำมันเพื่อเอาไปอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เอาไปทำนุบำรุงสิ่งแวดล้อมให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ
• การสนับสนุนพลังงานทดแทน อย่าลืมว่าน้ำมันในโลกมีอย่างจำกัด ไม่มีอะไรการันตีว่าทุกประเทศจะมีกำลังการผลิตเพื่อส่งออกน้ำมันได้ถึงเมื่อไหร่ หรือหากเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้การขนส่งน้ำมันสะดุด ย่อมเกิดผลกระทบกับประชาชน รัฐจึงจำเป็นที่ต้องสนับสนุนพลังงานทางเลือก หรือพลังงานทดแทนที่สามารถผลิตได้ในประเทศ แม้ว่าจะมีราคาแพงกว่าการนำเข้าน้ำมัน แต่เพื่อเสถียรภาพทางพลังงาน โครงการนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น รัฐจึงต้องจัดเก็บภาษีให้ราคาน้ำมันใกล้เคียงกับพลังงานทดแทน เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น
• รัฐต้องใช้งบประมาณในการสร้างสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการใช้น้ำมันอยู่ตลอดเวลา เช่น ถนน สะพาน จึงจำเป็นต้องมีการจัดเก็บภาษีน้ำมันในอัตราที่สูง
ภาษีน้ำมัน มีผลต่อราคาในระดับสูงมาก ยกตัวอย่างราคาน้ำมัน วันที่ 17 มิถุนายน 59 ภาษีน้ำมันเบนซิน 95 ประมาณ 27% ของราคาขาย ภาษีน้ำมันดีเซลอยู่ที่ประมาณ 30% ราคาขาย ซึ่งข้อสรุปนี้แสดงให้เห็นว่า ราคาน้ำมันไทย ไม่ใช่การปล้นประเทศไทยอย่างที่กล่าวมา แต่คือการจัดเก็บภาษีในระดับสูง (แต่ยังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว) โดยภาษีเหล่านั้นจะเข้าสู่รัฐ และรัฐจะนำภาษีน้ำมันไปพัฒนาประเทศ พัฒนาและสนับสนุนพลังงานทดแทน รวมถึงซ่อมแซมสิ่งแวดล้อมจากการก่อมลพิษจากน้ำมัน จึงถือเป็นสิ่งจำเป็นที่เราควรตระหนักถึงความสำคัญและทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างโดยเฉพาะภาษีน้ำมัน อย่างล่าสุดกรณีล่าสุดที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งต้องการให้เปลี่ยนระบบจากสัมปทานไปใช้ระบบจ้างผลิต เพราะจะได้เงินมากขึ้น แต่กับโจมตีรัฐในเรื่องของราคา ซึ่งถือเป็นความเห็นแก่ตัวของคนกลุ่มหนึ่ง ที่ต้องการให้รัฐได้เงินมากขึ้น จากคนอื่นที่ไม่ใช่พวกตน โดยให้รัฐเอาเสถียรภาพ ไปแขวนกับความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งถือเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เหมือนความพยายามที่จะไม่จ่ายภาษีหรือจ่ายภาษีให้น้อยลง โดยบังคับให้รัฐไปเก็บกับคนอื่นแทน