สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงนามความร่วมมือใน “การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศ ในระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้เป็นระบบดิจิทัล” เพื่อการวิจัยและพัฒนายกระดับเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศของระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้เป็นระบบดิจิทัลและปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) นวัตกรรมอุปกรณ์ และระบบบริการดิจิทัล ให้ผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินทั้งระบบสามารถเข้าถึงได้สะดวกและรวดเร็ว รองรับและขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0
เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า ความร่วมมือเพื่อการวิจัย และพัฒนาเพื่อยกระดับเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศในระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้เป็นระบบดิจิทัลนับว่ามีความสำคัญยิ่งในการดำเนินงานพัฒนางานวิจัยและพัฒนาปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ให้มีความสะดวก รวดเร็ว ในการเข้าถึงผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินทั้งระบบให้เป็นระบบดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ โดยได้รับการคัดเลือกจาก สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ในการพัฒนารับบแพทย์ฉุกเฉินให้เป็นระบบดิจิทัลระบบมีเป้าหมายที่จะขยายผลให้ครอบคลุมพื้นที่ 60 จังหวัด ภายในเวลา 3 ปี แต่ในเบื้องต้นแบ่งเป็นระยะ คือระยะแรก 15 จังหวัด ระยะที่สอง 20 จังหวัด และระยะที่สาม 25 จังหวัด
ด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสวทช. ให้ข้อมูลว่า การร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ให้เป็นระบบดิจิทัล หรือ D (digital) 1669 ซึ่งพัฒนาทั้งโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรมอุปกรณ์ และระบบดิจิทัล ที่สะดวกรวดเร็วต่อการปฏิบัติการฉุกเฉิน เพื่อให้เป็นระบบที่มีความสากล และให้ประชาชนเข้าถึงการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำ
โดยได้มีการพัฒนาใน 2 ส่วนหลักได้แก่ 1.ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินดิจิทัล ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศในส่วนของการให้บริการระบบโทรศัพท์ (Call Center) ในลักษณะ Total Conversation ที่สามารถแจ้งเหตุได้ทั้งเสียง ข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และแจ้งพิกัดตำแหน่งของผู้โทร ผ่านระบบคลาวด์ ซึ่งจะทำให้ทราบสถานที่เกิดเหตุได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งระบบเดิมจะเป็นการแจ้งเหตุจากการโทรฯ ผ่านหมายเลข 1669 เท่านั้น ที่อาจจะมีความล้าช้าในการซักถามสถานที่เกิดเหตุ ในส่วนยังได้พัฒนาระบบที่เชื่อมโยงกับอุปกรณ์ไอโอที (IoT) สำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือชาวต่างชาติ ก็จะมีการให้บริการ ถอดความเสียง และล่ามภาษามือ ทำให้เกิดการเข้าถึงบริการความช่วยเหลือได้อย่างเท่าเทียมและทันท่วงที
“2.ระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลสำหรับผู้ป่วยในรถพยาบาล หรือ Emergency Telemedical Direction บนรถฉุกเฉินระดับสูง สามารถสั่งการการรักษาผ่านวิดีโอคอลด้วยมือถือ หรือแท็บแลตได้ นอกจากนี้สำหรับการกู้ชีพในภาวะวิกฤตด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ และอุปกรณ์ Data Gateway ที่ได้พัฒนาให้สามารถบริหารจัดการข้อมูลจากอุปกรณ์หลายชนิด เช่น อุปกรณ์วัดสัญญาณชีพ ความดันโลหิต ปริมาณออกซิเจน กล้อง CCTV และอุปกรณ์สแกนลายนิ้วมือ ได้สะดวกรวดเร็วขึ้น ทำให้แพทย์สามารถเรียกดูข้อมูลที่จำเป็นในการประเมินอาการของผู้ป่วยในขณะนำส่งโรงพยาบาลได้แบบ Real Time” ดร.ณรงค์ กล่าว
นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาและประธานกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) กล่าวเสริมว่า เพื่อให้แพทย์อำนวยการมีข้อมูลจากเครื่องมือวัดทางการแพทย์ที่ติดตั้งอยู่บนรถฉุกเฉิน เสมือนว่าได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่บนรถฉุกเฉินนั้น พร้อมทั้งสามารถให้คำปรึกษาและสั่งการเจ้าหน้าที่กู้ชีพในดำเนินการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการฉุกเฉินได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที จึงมีความพร้อมที่จะได้นำเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5G เทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง และ Internet of Medical Thing (IoMT), AI, Big Data, Blockchain, และเทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อการส่งข้อมูลสัญญาณยังชีพของผู้ป่วยฉุกเฉินบนรถพยาบาลให้กับแพทย์อำนวยการ เพื่อให้แพทย์อำนวยการวินิจฉัยและสั่งการทางไกลในระหว่างการนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาต่อไป
ดร.ภุชงค์ อุทโยภาศ รองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพิ่มเติมว่า ในส่วนของมาตรฐานของข้อมูลจากโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยเข้ารักษา เพื่อสนับสนุนการทำงานของการแพทย์ฉุกเฉินทั้งในส่วนของรถพยาบาล และศูนย์สั่งการขณะที่นำส่งผู้ป่วย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง และบูรณาการเชื่อมโยงของระบบแจ้งเหตุฉุกเฉิน และระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ดังนั้นมาตรฐานข้อมูลจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างระบบเดิม และระบบใหม่ที่จะเสริมประสิทธิภาพการทำงาน รวมทั้งมาตรฐานด้านเทคนิคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ ภายในรถพยาบาลฉุกเฉินขั้นสูง ที่ต้องดึงข้อมูลออกมาใช้แบบ Real Time เพื่อประมวลผลเป็นข้อมูลสำหรับตัดสินใจของแพทย์อำนวยการ และสนับสนุนการทำงานต่าง ๆ ของระบบแพทย์ฉุกเฉิน