นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ กู้เงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาและเยียวยาผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัส หรือโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น
แต่ปรากฏว่าการออกกฎหมายเร่งด่วนเพื่อขอกู้เงินมาใช้จ่ายดังกล่าว ไม่มีแผนงานและรายละเอียดของการใช้จ่ายเงินและการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินให้เป็นไปโดยสุจริตแต่อย่างใด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมของรัฐบาลต่อการดำเนินการดังกล่าว แต่ต้องการใช้สถานการณ์ของโรคโควิด-19 มาเป็นข้ออ้างในการกู้เงินมาใช้จ่ายในฟากฝั่งของรัฐบาล โดยมีทีท่าว่าจะไม่ยอมให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งถือเป็นข้อพิรุธและหลักฐานที่ชี้ว่ารัฐบาลชุดนี้โปร่งใสมีธรรมาภิบาลตามที่โฆษณากล่าวอ้างมาก่อนหน้านี้หรือไม่
ล่าสุดสภาพัฒน์ได้จัดประชุมผ่านวิดีทัศน์ (Video Conference) ให้แก่หน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เมื่อ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมอบหมายให้แต่ละจังหวัดสั่งให้ อปท.ต่างๆ เร่งจัดทำโครงการ/กิจกรรมเพื่อขอรับงบประมาณจากเงินกู้ภายใต้กรอบนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยเร็ว โดยต้องแนบเอกสารประกอบ อาทิ แบบฟอร์มแผนงาน แบบฟอร์มข้อเสนอ ประมาณการงบประมาณหรือ ปร.4/ปร.5 แบบแปลน ผังบริเวณสถานที่ดำเนินงาน สำเนาแผนจังหวัด สำเนาแผนพัฒนาท้องถิ่น ภาพถ่ายสถานที่ดำเนินงานโครงการ และเอกสารสิทธิ์หรือหนังสืออนุญาตให้ใช้พื้นที่ ฯลฯ โดยเอกสารทั้งหมดต้องจัดทำ 2 ชุด และสแกนเป็นไฟล์ PDF 1 โครงการต่อ 1 ไฟล์ เพื่อส่งให้จังหวัดภายใน 29 พ.ค.นี้ เพื่อรวมรวมส่งให้สภาพัฒน์ภายในวันที่ 5 มิ.ย. และส่งให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นภายในวันที่ 10 มิ.ย.นี้
การสั่งการดังกล่าว มีความเร่งรีบจนทำให้ท้องถิ่นหลายแห่งมีความอึดอันเป็นอย่างมาก เพราะโครงการต่างๆ ใช่ว่าจะเขียนเสร็จภายในชั่วข้ามคืนได้ เพราะต้องมีรายละเอียดค่อนข้างมาก และยังต้องบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาท้องถิ่นด้วย ถ้าไม่มีก็ต้องเขียนเพิ่มเติมเข้าไปใหม่ และต้องให้สภาของท้องถิ่นอนุมัติเสียก่อน และถ้าสภาท้องถิ่นเห็นชอบแล้วต้องปิดประกาศให้ประชาชนทราบไม่น้อยกว่า 30 วันด้วย ตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล 2537 ซึ่งถ้าทำผิดกฎหมายถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาตรวจสอบเอาผิด ถามว่าเลขาสภาพัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รมว.มหาดไทย และนายกรัฐมนตรีจะรับผิดชอบแทน อปท.ได้หรือไม่ ที่สำคัญยังไม่มีการวางระบบตรวจสอบการใช้เงินกู้ดังกล่าวแบบมีส่วนร่วมเลย แล้วประชาชนจะเชื่อใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีไอ้โม่งเข้ามาทำการหักหัวคิวเหมือน State Quarantine