นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการสนับสนุนการกระจายผลไม้ของสถาบันเกษตรกรเพื่อรองรับผลกระทบจากโรคไวรัสโควิด-19 ณ สหกรณ์การเกษตรเมืองขลุง จำกัด อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เมื่อเร็วๆ นี้ โดยกล่าวว่า โครงการสนับสนุนการกระจายผลไม้ดังกล่าว มีการดำเนินการมาระยะหนึ่ง ซึ่งเห็นถึงความตั้งใจในขบวนการสหกรณ์ ที่เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาของสมาชิกสหกรณ์ โดยการร่วมมือกันกระจายผ่านเครือข่ายในขบวนการสหกรณ์ เมื่อเริ่มการขับเคลื่อนการกระจายผลไม้ ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวของพ่อค้าผู้รับซื้อในท้องถิ่นได้เร่งเข้ามารับซื้อผลผลิตมากยิ่งขึ้น ส่งผลต่อราคาที่เกษตรกรพอใจยิ่งขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ขอให้เกษตรกรยึดมั่นและซื่อสัตย์ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพ เพราะเป็นสัญลักษณ์คำว่า "สหกรณ์" จะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของ ผลผลิตทุกชนิดของสหกรณ์ หากผลไม้เราดีมีคุณภาพ ผู้บริโภคจะเกิดความเชื่อมั่น ว่าของทุกชนิดของสหกรณ์ เป็นของดีมีคุณภาพ น่าเชื่อถือ ส่งผลต่อปริมาณธุรกิจของสหกรณ์ ที่ดูแลสมาชิก ได้ทั่วถึง และเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน สหกรณ์เองต้องเรียนรู้ ด้านการตลาด ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อตอบสนองต่อผู้บริโภคได้ทุกช่องทาง ขบวนการ โลจิสติกส์ก็เช่นเดียวกัน มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ผลไม้สดใหม่ ซึงควบคู่กับการจัดส่งที่รวดเร็ว ให้ถึงมือผู้บริโภคเสมือนที่มารับประทานในสวนผลไม้เอง
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การจ่ายเงินอุดหนุนการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้จ่ายได้จำนวน 3 รายการ คือ ค่าบริหารจัดการ ค่าขนส่งและค่าบรรจุภัณฑ์ในการกระจายสินค้า อาทิ ค่าบริหารจัดการสำหรับสหกรณ์ (ต้นทางรวบรวม) เพื่อสนับสนุนการรวบรวมและบรรจุผลผลิตของสมาชิกในอัตรากิโลกรัมละ 1 บาท โดยส่งให้กับสหกรณ์ผู้กระจายผลผลิตตามโครงการ ค่าบริหารจัดการสำหรับสหกรณ์ (ปลายทางกระจายปลายทาง) เพื่อสนับสนุนการกระจายผลผลิตออกไปสู่ผู้บริโภคในอัตรากิโลกรัมละ 50 สตางค์ และค่าขนส่งสำหรับสหกรณ์ผู้รวบรวมผลผลิตผลไม้เพื่อจัดส่งผลผลิตในอัตรากิโลกรัมละ 2 บาทให้กับสหกรณ์ผู้กระจายผลผลิตตามโครงการ เป็นต้น
ในการนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบป้ายการเข้าร่วมโครงการสนับสนุนการกระจายผลไม้ของสถาบันเกษตรกร ให้แก่สหกรณ์ 6 แห่งในจังหวัดจันทบุรี และตราด ได้แก่ 1.สหกรณ์การเกษตรมะขาม จำกัด 2.สหกรณ์การเกษตรเมืองขลุง จำกัด 3.สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.จันทบุรี จำกัด จังหวัดจันทบุรี 4.สหกรณ์การเกษตรเพื่อการแปรรูปและส่งออกจังหวัดตราด จำกัด 5.สหกรณ์ส่งเสริมธุรกิจภาคเกษตรจังหวัดตราด จำกัด จังหวัดตราด และ 6.สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านอ่างคีรี จำกัด
โดยในปีนี้สหกรณ์จังหวัดจันทบุรีปริมาณมังคุดที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 286 ตัน จากนั้นได้ปล่อยคาราวานผลไม้จากสหกรณ์ต้นทางสู่สหกรณ์คู่ค้าปลายทาง เป็นมังคุดรวม 34 ตัน กระจายโดยรถขนส่ง จำนวน 13 คัน ไปยังคู่ค้าปลายทาง 13 แห่ง ใน 11 จังหวัด ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด จังหวัดนครราชสีมา สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.สุรินทร์ จำกัด จังหวัดสุรินทร์ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ สหกรณ์การเกษตรเมืองศรีสะเกษ จำกัด จังหวัดศรีสะเกษ ร้านสหกรณ์สิงห์บุรี จำกัด จังหวัดสิงห์บุรี ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรบุรีรัมย์ จำกัด สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.บุรีรัมย์ จำกัด จังหวัดบุรีรัมย์ สหกรณ์การเกษตรเมืองฉะเชิงเทรา จำกัด จังหวัดฉะเชิงเทรา สหกรณ์การเกษตรปัว จำกัด จังหวัดน่าน สหกรณ์บริการเพื่อการศึกษาและพัฒนาอาชีพ จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ กระทรวงกลาโหม กรุงเทพฯ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสุพรรณบุรี และสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเลย