นายแพทย์สรรพงศ์ ฤทธิรักษา รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ซึ่งคำขวัญประจำปี 2563 คือ ติดบุหรี่ ติดโควิด เสี่ยงตายสูง เลิกสูบลดเสี่ยง กรมการแพทย์แผนไทยฯ เล็งเห็นความสำคัญในการรณรงค์ให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่อย่างจริงจัง เพราะการสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่ใช่แค่ทำร้ายสุขภาพของผู้สูบ ยังทำร้ายผู้ที่สูดดมควันจากบุหรี่ หรือที่เรียกว่า ควันบุหรี่มือสอง ซึ่งควันจากบุหรี่ทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจ เป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดโรคมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมอักเสบ โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง หรืออัมพฤกษ์ อัมพาต และหากติดเชื้อไวรัสโควิค-19 เข้าไปอีก จะทำให้เกิดอาการปอดอักเสบอย่างรุนแรงได้
สำหรับสมุนไพรที่อยากแนะนำสำหรับผู้ที่อยากเลิกบุหรี่ คือ ชาชงหญ้าดอกขาว เป็นสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีชื่อเรียกแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น เช่น หญ้าหมอน้อย หญ้าละออง หรือถั่วแฮะดิน หญ้าดอกขาวมีสารต้านอนุมูลอิสระค่อนข้างสูง อีกทั้งมีสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ เทอร์พีน สเตอรอล และสารกลุ่มไกลโคไซด์ ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ลิ้นฝาดหรือชา ช่วยลดความอยากสูบบุหรี่ จากการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบประสิทธิผลของหญ้าดอกขาวกับยาหลอกในรูปแบบชาชง พบว่า กลุ่มผู้ที่ใช้ชาชงหญ้าดอกขาวสามารถช่วยลดการสูบบุหรี่ได้มากกว่ากลุ่มที่ใช้ยาหลอก และหลังจากดื่มชาชงหญ้าดอกขาวแล้วไปสูบบุหรี่ พบว่า รสชาติบุหรี่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จนทำให้ไม่รู้สึกอยากสูบบุหรี่ วิธีใช้ชาหญ้าดอกขาว เพื่อลดความอยากบุหรี่ คือ ใช้หญ้าดอกขาวแห้งปริมาณ 2 กรัม ต่อน้ำร้อน 120-200 มิลลิลิตร แช่ไว้ 5-10 นาที ดื่มหลังอาหารทันที วันละ 3-4 ครั้ง ข้อควรระวัง คือ การใช้ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจ และโรคไต ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ เนื่องจากชาหญ้าดอกขาวมีสารโพแตสเซียมปริมาณที่สูง อาจส่งผลให้อาการของโรคกำเริบได้ อาการไม่พึงประสงค์อย่างเช่น ปากแห้ง คอแห้ง เป็นต้น
นอกจากชาชงหญ้าดอกขาวแล้ว ยังมีสมุนไพรใกล้ตัวในครัวเรือนที่ทุกคนรู้จักกันดี ช่วยลดความอยากสูบบุหรี่ได้ คือ มะนาว วิธีใช้ง่าย ๆ เพียงหั่นมะนาวทั้งเปลือก เป็นชิ้น ๆ พอคำ นำมารับประทานเมื่อมีความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ สารสำคัญในเปลือกมะนาวมีผลต่อการทำงานของต่อมรับรสขม ทำให้รสชาติของบุหรี่เปลี่ยนไป ซึ่งจะช่วยลดความอยากสูบบุหรี่ได้เช่นเดียวกัน
นายแพทย์สรรพงศ์ กล่าวในตอนท้ายว่า ผู้ที่สนใจอยากจะเลิกบุหรี่ สามารถขอคำแนะนำหรือรับบริการได้ที่โรงพยาบาลที่มีการให้บริการด้านการแพทย์แผนไทยกว่า 500 แห่ง ทั่วประเทศ ซึ่งสามารถติดต่อใช้บริการได้ตามสถานพยาบาลใกล้บ้านท่าน และท่านที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล สามารถติดต่อที่ โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน สอบถามข้อมูลได้ที่ 0 2224 3261-2