นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการฟาร์มตัวอย่าง ต้านภัยโควิด – 19 ณ โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (บ้านกระเจา) ตำบลลำดวน อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยกล่าวว่า กระทรวงแรงงาน สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีพระราชทานพื้นที่ในฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้กระทรวงแรงงานร่วมกับศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินกิจกรรมแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนด้านอาชีพ ภายใต้ “โครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัยโควิด – 19” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนที่ว่างงานจากผลกระทบโควิด มีงานทำ มีรายได้ เพื่อจุนเจือภายในครอบครัว โดยจัดสรรงบประมาณจำนวน 19.8 ล้านบาท ดำเนินการในพื้นที่ 17 จังหวัด 30 ฟาร์มตัวอย่าง ภายในระยะเวลา60 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม – 28 กรกฎาคม 2563 ปฏิบัติงานวันละ 8 ชั่วโมง หยุดเฉพาะวันอาทิตย์ ประชาชนจะได้รับค่าตอบแทนวันละ 300 บาทต่อคน ทั้งนี้จะมีพี่น้องแรงงานเข้าร่วมโครงการรวมจำนวนทั้งสิ้น 1,101 คน
นางเธียรรัตน์ กล่าวว่า สำหรับจังหวัดบุรีรัมย์มีผู้เข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ กิจกรรมจ้างงานเร่งด่วน จำนวน 48 คน ซึ่งมาจากหลากหลายอาชีพ นอกจากนี้ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานได้เข้าไปช่วยสนับสนุนการจัดกิจกรรมตามภารกิจเพิ่มเติม ในเบื้องต้นสำนักงานจัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ส่งเสริมและแนะแนวอาชีพโดยสอนการทำหมูเค็ม สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ ได้เข้าไปฝึกอบรมซ่อมแซมเครื่องมือการเกษตร การบำรุงรักษาเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตร การซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยและการใช้สารเคมีทางเกษตร และสำนักงานประกันสังคมจังหวัดบุรีรัมย์ แนะแนวและให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายประกันสังคมและรับสมัครประกันสังคมมาตรา 40 โดยผู้เข้าร่วมโครงการสมัครประกันสังคมมาตรา 40 จำนวน 25 คน เป็นต้น สำหรับความคืบหน้าโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ กิจกรรมจ้างงานเร่งด่วน ของจังหวัดบุรีรัมย์ ขณะนี้ผู้เข้ารับการฝึกกำลังดำเนินการปรับพื้นที่ในพื้นที่แปลงปลูกเศรษฐกิจแบบผสมผสาน โดยได้เรียนรู้การตอนกิ่ง การปักชำ การทำเรือนเพาะชำ และสะพานไม้ไผ่อีกด้วย