รพ.รามาฯ มีผู้ป่วยหมุนเวียนเข้ามาใช้บริการที่โรงพยาบาลปีละกว่า 2.2 ล้านคน หรือ 5,000 – 6,000 คนต่อวัน จึงนำระบบเทเลเมดิซีนมาใช้ เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลลง 30 % เพื่อลดการติดเชื้อ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานง่ายขึ้น ลดการเผชิญหน้ากับคนไข้จำนวนมาก
ทั้งนี้ การนำระบบเทเลเมดิซีนดังกล่าวมาใช้ เน้นกลุุ่มผู้ป่วยเก่ากลุ่มโรคเรื้อรังสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างต่อเนื่องและเหมาะสม ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ซึ่งจะเป็นการลดโอกาสได้รับเชื้อระหว่างการเดินทาง และอำนวยความสะดวกในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถเดินทางมาโรงพยาบาลได้ และลดความแออัดที่โรงพยาบาล ทำให้สามารถดำเนินมาตรการด้านระยะห่าง ในหน่วยบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มรันระบบตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา
โดยแพทย์จึงต้องคัดกรองผู้ป่วย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ สีเขียวคือ ผู้ป่วยที่มีอาการคงที่ ไม่ต้องจ่ายยา และสามารถรับยาโรงพยาบาลต้นสังกัดได้ ใช้วิธีติดต่อทางโทรศัพท์ ถัดมา สีเหลืองคือ ผู้ป่วยที่มีอาการคงที่ และสามารถตรวจแบบเทเลเมดิซีน หรือโทรศัพท์ โดยสามารถเลือกให้ญาติมารับยาตามตามวันที่กำหนด หรือส่งยาทางไปรษณีย์ ยกเว้นยาแช่เย็น ที่ต้องรักษาอุณหภูมิ และยาเสพติด สำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ต้องใช้ยาแก้ปวด หรือโรคจิตเวช โรคปวดเรื้อรัง
และสุดท้าย สีแดงคือ ผู้ป่วยที่ต้องมาตามนัดเพื่อติดตามอาการ ตรวจละเอียด ให้มาตามนัดปกติ เพราะการตรวจแบบเทเลเมดิซีน มีข้อจำกัด ตรวจได้แค่เบื้องต้น