นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ในฐานะผู้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 61 วรรคสองของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 หรือไม่ กล่าวหลังทราบผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจากนี้ในฐานะที่เป็นองค์กรทำงานด้านสิทธิเสรีภาพด้านการแสดงออกของประชาชนก็จะเดินหน้ารณรงค์ต่อไป แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่ามาตรา 61 วรรคสองไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า มาตราดังกล่าวจะถูกต้อง เพราะยังมีประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่กำหนดอะไรทำได้ไม่ได้ ซึ่งทำให้ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการรณรงค์
“เห็นได้ชัดกรณีนิสิต นักศึกษาที่ออกมารณรงค์ถูกจับดำเนินคดี และเรื่องดังกล่าวจะทำให้การออกเสียงประชามติของประเทศไทยไม่มีความชอบธรรม หรือยุติธรรม ทำให้การทำประชามติเป็นการมัดมือประชาชน อย่างไรก็ตาม ดังนั้นที่จะรณรงค์ต่อไปเป็นสิ่งแรก คือ จะให้ กกต.ยกเลิกประกาศการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ และขออยากให้ตำรวจ ทหารเลิกจับกุมดำเนินคดีผู้ออกมาใช้สิทธิแสดงความเห็นการทำประชามติอย่างสันติวิธี” นายจอนกล่าว