พาณิชย์-เกษตรฯ ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำทีมผู้บริหารของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวิสัยทัศน์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนําการผลิต ณ กระทรวงพาณิชย์ (สนามบินนํ้า) โดยตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก มุ่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มจีดีพีประเทศ และเพิ่มรายได้เกษตรกรและผู้ประกอบการ พร้อมร่วมกันสร้าง Single Big Data โดยใช้ข้อมูลจากฐานเดียวกัน สร้างแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” สร้างความเชื่อมั่นด้วยคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัย และการตรวจสอบย้อนกลับ มุ่งพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภาคเกษตรถือเป็นรากฐานของประเทศและมีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเกษตรกรและภาคเกษตรอย่างเป็นระบบ โดยได้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพของเกษตรกรไทยสู่การเป็นเกษตรกรมืออาชีพที่สามารถบริหารจัดการสินค้าเกษตรได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป และการตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่หลากหลายได้อย่างเหมาะสม มีการผลิตสินค้าเกษตรที่ได้คุณภาพมาตรฐาน มีความปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ อีกทั้งยังคำนึงถึงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินนโยบายและมาตรการที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรอย่างจริงจัง โดยใช้หลัก “ตลาดนำการผลิต” ควบคู่กับการทำเกษตรสมัยใหม่ ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการวางแผนการผลิตได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งช่วยแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและล้นตลาด นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินนโยบายสนับสนุนในด้านอื่นๆ อาทิ การบริหารจัดการแหล่งน้ำทั้งระบบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรจากภัยแล้งและอุทกภัย การส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัย เช่น สินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรอง GAP การทำเกษตรกรรมยั่งยืน เช่น เกษตรพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่
รวมทั้งส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรและบริการที่มีคุณภาพและมูลค่าสูง เช่น สินค้าเกษตรอัตลักษณ์ สินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าเกษตรพรีเมี่ยม และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร การลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผ่านระบบเกษตรแปลงใหญ่ การพัฒนาศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จำนวน 882 ศูนย์ในทุกอำเภอทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาเกษตรกรเป็น Smart Farmer และ Young Smart Farmer ที่มีความเข้มแข็ง สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกัน มีศักยภาพในการบริหารจัดการการผลิตอย่างเป็นระบบ รวมถึงการเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ผ่านตลาดออนไลน์
ตลอดจนมีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (National Agricultural Big Data Center หรือ NABC) และศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritechand Innovation Center หรือ AIC) เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและพี่น้องเกษตรกรสามารถเข้าถึงและนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนการผลิตและการตลาด รวมถึงสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์นวัตกรรม และเครื่องจักรกลเกษตร เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นเกษตรอัจฉริยะและเกษตรสมัยใหม่
"ภาคเกษตรของไทยถือเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลกที่มีความหลากหลาย ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะสนับสนุนการผลิต ควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร ทั้งสินค้าเกษตรทั่วไป สินค้าที่ได้มาตรฐาน และสินค้าพรีเมี่ยม ให้ตรงตามความต้องการของตลาด อย่างไรก็ตาม การพัฒนาภาคเกษตรของประเทศ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการบูรณาการจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา และเกษตรกร เพื่อสร้างความตระหนักรู้ กระตุ้นให้เกิดการปรับตัว เสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตรและภาคเศรษฐกิจอื่นฃๆ ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีการเติบโตอย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพต่อไป" นายเฉลิมชัย กล่าว