ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ความสัมพันธ์ไทย - จีน และ เศรษฐกิจเพื่อนบ้าน ย้อนกลับ
ที่มา 30 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ความร่วมมือระหว่างกัลยาณมิตร 2518-2548
01 ก.ค. 2559

          ทัศนคติของคนไทยตลอดจนมติมหาชนที่มีต่อจีนโดยทั่วไปได้ดีขึ้นกว่าเดิมอัน เป็นผลมาจากการติดต่อระหว่างไทยกับจีน และท่าทีของจีนที่เป็นมิตรต่อไทย จุดหักเหสำคัญที่เป็นตัวเร่งการตัดสินใจสถาปนาความสัมพันธ์กับจีนคือการ เปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอินโดจีน ที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ประสบชัยชนะยึดอำนาจได้ในเวียดนามใต้ ลาว และกัมพูชา ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2518 และท่าทีที่แข็งกร้าวของเวียดนาม ทำให้ผู้นำพลเรือนของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฯพณฯ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมี พล.ต. ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ตัดสินใจปรับความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจัดตั้งคณะทำงานภายใต้การนำของ นายอานันท์ ปันยารชุน เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน และผู้แทนถาวรประจำองค์การสหประชาชาติ ซึ่งประกอบด้วยนายเตช บุนนาค นายชวาล ชวณิชย์ จากกรมการเมือง นายสุจินดา ยงสุนทร จากกรมสนธิสัญญา เพื่อเตรียมการเจรจาเปิดความสัมพันธ์ ฝ่ายจีนประกอบด้วยนายเคอะหวา อธิบดีกรมเอเชีย นายเฉิงรุ่ยเซิง รองอธิบดี และเจ้าหน้าที่แผนกไทย จางจิ่วหวน หลิวหย่งชิง นายอานันท์ ปันยารชุน และคณะ เดินทางไปเจรจากับฝ่ายจีนในวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2518 เพื่อตกลงในรายละเอียดเกี่ยวกับการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต

ประเด็นสำคัญของฝ่ายไทยคือ                                        ประเด็นสำคัญของฝ่ายจีนคือ

1.การถือสัญชาติของชาวจีนในไทย                                1.ฐานะความเป็นจีนที่ถูกต้องเพียงรัฐเดียว
2.การสนับสนุนของจีนต่อพรรคคอมมิวนิสต์ไทย                2.การมีฐานทัพของสหรัฐฯ ตั้งอยู่ในประเทศไทย
3.การค้าระหว่างไทยกับจีน

         การเจรจามีขึ้นในวันที่ 18 - 20 มิถุนายน ภายใต้บรรยากาศที่เป็นมิตร ประเด็นต่าง ๆ สามารถตกลงกันได้ ฝ่ายจีนจึงแจ้งให้คณะผู้แทนไทยทราบว่า นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลของจีนขอเชิญนายกรัฐมนตรีไทย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้มาเยือนจีนอย่างเป็นทางการ

         นายอานันท์ ปันยารชุน ได้พูดถึงการเจรจาในครั้งนั้นว่า "หลักใหญ่ ๆ ก็คือ ทั้งสองฝ่ายยอมรับหลักห้าประการของการอยู่ร่วมกัน เป็นหลัก 5 ประการที่ประกาศตั้งแต่สมัยปฏิญญาบันดุง (Bandung Declaration) ซึ่งขณะนั้นกรมหมื่นนราธิปพงษ์ประพันธ์ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ไทยเรายอมรับแล้วประเด็น คือ การยอมรับหลัก 5 ประการนั้น ในทางทฤษฎีมันมีมานาม แต่ไม่เชื่อว่าในทางปฏิบัติจะทำจริงหรือเปล่า ไม่ว่าจะในเรื่องของการเคารพเอกราชและบูรณภาพแห่งดินแดน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการไม่แทรกแซงกิจการภายใน... ทางด้านจีนมีอยู่เรื่องเดียวว่า เราต้องยอมรับว่ามีจีนประเทศเดียว หลักการ One China ซึ่งก่อนหน้าเราไป ฟิลิปปินส์ก็ยอมรับแล้ว และใคร ๆ ก็ตามที่ไปเจรจาต้องยอมรับหลักการนี้... อีกอันหนึ่งที่สำคัญก็คือว่า จีนเขาย้ำว่าเขาไม่ยอมรับสิ่งที่เรียกว่าสองสัญชาติ (Dual Nationality) อันนี้มีความสำคัญทางจิตใจของเมืองไทยมาก เพราะตอนนั้นไทยก็ถูกโจมตีว่าเราซ้าย เราจะเชื่อได้อย่างไรว่าคนไทยเชื้อสายจีนที่มีอยู่ในเมืองไทยจะมีความจงรัก ภักดีกับเมืองไทย... การที่จีนเขาไม่ยอมรับ 2 สัญชาติ เขาพูดอย่างเปิดเผยว่า ขอให้คนไทยเชื้อสายจีนที่อยู่ในเมืองไทยนั้นเป็นคนไทยที่ดี มีความจงรักภักดีกับเมืองไทย... ยังมีการพูดถึงการไม่แทรกแซงกิจการภายในต่าง ๆ จีนก็ต้องลดบทบาทของตนในการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย... ต่างคนต่างอยู่ในระยะที่ดูแลจิตใจกันว่า มีความจริงใจในเรื่องเหล่านี้หรือเปล่า ต่อมาปรากฏว่าความจริงใจมันเกิดขึ้น..."

         ในวันที่ 30 มิถุนายน ฯพณฯ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปถึงกรุงปักกิ่งพร้อมกับ พล.ต. ชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ และคณะ และเจรจากับเติ้งเสี่ยวผิง รองนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นเจ้าภาพ วันรุ่งขึ้น 1 กรกฎาคม ตอนเช้า ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับแจ้งว่า ประธานเหมาเจ๋อตุงพร้อมให้เข้าพบ นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช และรัฐมนตรีต่างประเทศ พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้เดินทางไปจงหนานไห่ และเข้าพบประธานเหมาเจ๋อตุงในห้องสมุด ทั้งสองได้พูดคุยอย่างฉันท์มิตร เหมาเจ๋อตุงเริ่มการทักทายว่า "ท่านนายก มาหาคอมมิวนิสต์อย่างข้าพเจ้า ไม่รู้สึกกลัวหรือ" ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ตอบว่า "หามิได้ ข้าพเจ้าเลื่อมใสท่านประธานมานานแล้ว ข้าพเจ้ามิใช่คอมมิวนิสต์ แต่ข้าพเจ้ามาหาเพื่อน" ทั้งสองสนทนากันเกือบ 1 ชั่วโมง เหมาเจ๋อตุงกล่าวในตอนท้ายว่า "ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง จะลุกจะนั่งก็ปวด อีกไม่นานก็จะตาย" ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ตอบว่า "อย่าพูดเช่นนี้เลย โลกมนุษย์มิอาจขาดผู้ร้ายหมายเลขหนึ่งอย่างท่านได้" ประธานเหมาหัวเราะชอบใจ

         นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ลงนามใน "แถลงการณ์ร่วมสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ" กับโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีจีน ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2518 ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่ 101 ที่รับรองรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน และเป็นประเทศที่สามในกลุ่มอาเซียน แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทย กับสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นฟูความสัมพันธ์และการประนีประนอมระหว่างกันเพื่อผล ประโยชน์ร่วมกัน แม้ว่าทั้งสองประเทศจะมีความแตกต่างด้านอุดมการณ์ ระบอบการปกครองและเศรษฐกิจก็ตาม แถลงการณ์ร่วมได้ระบุว่า ประเทศทั้งสองได้ยอมรับในหลัก 5 ประการของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และจะต่อต้านการสถาปนาความเป็นใหญ่ของประเทศหรือกลุ่มประเทศใด ๆ ไทยได้รับรองว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรัฐบาลอันชอบด้วยกฎหมายของประเทศจีน เพียงรัฐบาลเดียว และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนจีนที่แบ่งแยกไม่ได้ ส่วนจีนก็ประกาศไม่ยอมรับการถือสองสัญชาติของคนจีนในประเทศไทย

         หลังการลงนามในแถลงการณ์ร่วม นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลได้กล่าวกับ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่า "ในหลายสิบศตวรรษที่ผ่านมา ประเทศของเราทั้งสองมีการไปมาหาสู่กัน อยู่ใกล้ชิดกัน จะติดต่อทางทะเลก็สะดวกมาก ดังนั้น พูดไปแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับเป็นญาติกัน" หลิวหย่งชิง ล่ามภาษาไทยขณะนั้น (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตจีนประจำลาว) ได้ย้อนพินิจถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ว่า คณะของนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นคณะสุดท้ายที่นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลลงนามในเอกสาร และเป็นการต้อนรับแขกต่างประเทศครั้งสุดท้าย เพราะหลังจากนั้นโจวเอินไหลป่วยหนักและถึงแก่กรรม

         พล.อ.อ. สิทธิ เศวตศิลา ซึ่งร่วมเดินทางไปกับคณะด้วย ได้เล่าในภายหลังเกี่ยวกับบรรยกาศการเจรจาระหว่างเติ้งเสี่ยวผิงซึ่งเป็น เจ้าภาพแทนนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลซึ่งป่วย กับ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่า "เติ้งเสี่ยวผิงยืนยันว่า จีนไม่คิดรุกรานหรือคุกคามไทย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ตอบว่า ให้จีนเขียนคำดังกล่าวในล็อคเก็ต จะเอาไปให้เด็กไทยห้อยคอ เติ้งเสี่ยวผิงหัวเราะชอบใจ"

         รัฐบาลไทยเห็นว่า การเป็นมิตรกับสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นจะส่งผลดีต่อไทยมากกว่าผลเสีย เพราะไทยจะได้รับผลประโยชน์หลายประการทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทางด้านการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศ ไทยคาดหวังว่า จีนซึ่งเป็นประเทศใหญ่ และขณะนั้นเป็นมิตรที่สนับสนุนเวียดนามในการทำสงครามต่อสหรัฐฯ อาจมีอิทธิพลและบทบาทในการยับยั้งเวียดนาม ในกรณีที่เวียดนามจะคุกคามความมั่นคงของไทย ส่วนทางด้านการเมืองและความมั่นคงภายใน การมีความสัมพันธ์อันดีระดับรัฐกับสาธารณรัฐประชาชนจีน อาจส่งผลให้จีนลดการให้ความสนับสนุนต่อผู้ก่อการร้ายและพรรคคอมมิวนิสต์แห่ง ประเทศไทย ซึ่งคงทำให้พรรคคอมมิวนิสต์อ่อนแอลง เปิดโอกาสให้รัฐบาลปราบปรามได้ง่ายขึ้น ทางด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยก็หวังจะซื้อน้ำมันดิบและน้ำมันเตาจากจีนในราคามิตรภาพ เพื่อลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศอันเนื่องมาจากการขึ้นราคาน้ำมันของ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์เชื้อเพลิงภายในประเทศ อีกทั้งยังหวังที่จะขายผลิตผลทางการเกษตรบางอย่าง เช่น น้ำตาลดิบ ข้าว และยางพารา ให้กับจีนด้วย

         ส่วนจีนนั้น ก็คงคาดหวังผลประโยชน์จากความสัมพันธ์อันดีต่อไทย คือ เป็นการสร้างแนวร่วมกับประเทศไทย (และกลุ่มประเทศอาเซียน) ในการต่อต้านอิทธิพลของสหภาพโซเวียต ทั้งนี้เพราะการลดลงของอิทธิพลและบทบาทของสหรัฐอเมริกาในเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ ได้ก่อให้เกิดภาวะ "สุญญากาศแห่งอำนาจ" (Power vacuum) ขึ้นในภูมิภาค ซึ่งทำให้จีนและสหภาพโซเวียตพยายามแข่งขันกันเข้ามามีอิทธิพลแทนที่สหรัฐ อเมริกา จีนหวังใช้ไทยช่วยจีนในการสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของสหภาพโซเวียต

         สรุปการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญยิ่งเหตุการณ์หนึ่งในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทย เพราะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้จีนกับไทยซึ่งเคยเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน หันมาเป็นมิตรกัน เป็นการยุติความเป็นศัตรูและความไม่เข้าใจต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2492 เมื่อจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ ส่วนจีนก็มองการสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับไทยว่า เป็นความสำเร็จทางการทูตหลังจากที่ได้มีความพยายามมานานตั้งแต่ได้พบปะกันใน การประชุมที่บันดุงอินโดนีเซีย
 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...