สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดกิจกรรมผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช.พบสื่อมวลชน ในหัวข้อ 'การตรวจสอบเงินกู้ 4 แสนล้าน – เงินสะสมท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาโควิด-19' โดยมี นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. , นายพิเชฐ พุ่มพันธ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ช.ด้านการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน , นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการ ป.ป.ช.ด้านการปราบปรามการทุจริต และนายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการ ป.ป.ช.ด้านการป้องกันการทุจริต เข้าร่วมด้วย
นายวรวิทย์ กล่าวว่า วันนี้แผนงานโครงการที่เกี่ยวข้องกับเงินกู้ยังไม่เกิดขึ้น มีแต่วงเงินที่ได้รับการอนุมัติไปแล้ว จึงยังไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะยังไม่เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบทุจริต แต่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับ พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อแก้ไขสถานการณ์โควิด วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการตรวจสอบทันทีที่โครงการต่างๆได้รับการอนุมัติ
นายวรวิทย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการตรวจสอบงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาโควิด โดยเฉพาะการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม หากมีการร้องเรียนหรือเป็นคดี ป.ป.ช.จะยกเป็นคดีเร่งด่วนที่ต้องตรวจสอบทันที เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเงินจำนวนมาก ต้องตรวจสอบและเห็นผลของคดีทันที ขณะเดียวกันที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการตรวจสอบทุจริต ได้หารือกันว่าจะมีการตั้งเว็บไซต์เฉพาะกิจขึ้นมา เพื่อตรวจสอบการใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท
“การใช้จ่ายเงินกู้ก้อนนี้ ป.ป.ช.จะถือเป็นเคสพิเศษที่ต้องมีการตรวจสอบและจัดการให้คดีเห็นผลทันที เพราะถือว่าเป็นแผนงานที่มีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก ขณะเดียวกันหากประชาชนพบความผิดปกติเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ขอให้รีบส่งข้อมูลให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตรวจสอบทันที” นายวรวิทย์ กล่าว
เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงการตรวจสอบเงินสะสมท้องถิ่นที่ถูกใช้ไปในการแก้ไขปัญหาโควิด ว่า ปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนที่ ป.ป.ช.รับไว้ตรวจสอบแล้วทั้งหมด 23 เรื่อง แบ่งเป็นภาคเหนือ 3 เรื่อง ภาคกลาง 10 เรื่อง อีสาน 7 เรื่อง และภาคใต้ 3 เรื่อง ในส่วนนี้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนแล้ว 1 เรื่อง คือเรื่องจัดซื้อแคร์เซ็ตที่ จ.ลำพูน ส่วนที่เหลือเข้าสู่กระบวนการสอบในขั้นต้นทั้งหมดแล้ว
“ทั้ง 23 เรื่องที่ร้องเรียนมีหลากหลายประเภท ทั้งเรื่องซื้อของแพงเกินกว่าความเป็นจริง เรื่องติดตั้งอุโมงค์ฆ่าเชื้อ รวมถึงการซื้อยาเวชภัณฑ์ เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ จัดซื้อหน้ากากอนามัย ถุงยังชีพ ตลอดจนเรื่องเรียกรับเงิน ในส่วนนี้มีทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องใหญ่ ที่ใหญ่ทั้งขนาดโครงการและตัวคนที่เข้าไปเกี่ยวข้อง” นายวรวิทย์ กล่าว
ด้านนายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการ ป.ป.ช.ด้านการป้องกันการทุจริต กล่าวว่า แม้ว่าเงินกู้จำนวน 4 แสนล้านบาทจะเป็นตัวเลขที่มหาศาล แต่ไม่ใช่สถานการณ์แรกที่ ป.ป.ช.ได้เข้าไปตรวจสอบ เพราะก่อนหน้านี้เราเคยตรวจสอบทั้งโครงการมิยาซาว่า และโครงการไทยเข้มแข็ง อย่างไรก็ตามกระบวนการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดต้องอาศัยกลไกภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วม และเชื่อว่าการตรวจสอบเงินกู้ครั้งนี้
ขณะที่ นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการ ป.ป.ช.ด้านการปราบปรามการทุจริต กล่าวว่า วันนี้ ป.ป.ช.คงรับปากไม่ได้ว่าจะไมให้เกิดการทุจริตแม้แต่บาทเดียว แต่เรื่องนี้ประชาชนทุกคนต้องช่วยกันตรวจสอบ ในส่วนของ ป.ป.ช.เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนก็จะเร่งรัดการตรวจสอบคดี เพื่อนำไปสู่การชี้มูลความผิดและลงโทษผธ้กระทำความผิด ดังนั้นการชี้ช่องเบาะแสเป็นเรื่องสำคัญมาก ขอให้ทุกคนอย่าเพิกเฉยหากพบเห็นสิ่งที่ผิดปกติ
“ยกตัวอย่างกรณีแจกแคร์เซ็ตที่ จ.ลำพูน เมื่อประชาชนพบเห็น จนเกิดเรื่องร้องเรียนและปรากฏเป็นข่าว ป.ป.ช.ก็จะเข้าไปตรวจสอบทันที และทำงานได้อย่างรวดเร็วจนถึงวันนี้” นายนิวัตไชย กล่าว
ส่วน นายพิเชฐ พุ่มพันธ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ช.ด้านการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำข้อเสนอเพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน หลังจากสังคมยังมีความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างเจ้าของบัญชีทรัพย์สินที่ไม่ต้องการให้เปิดเผยทั้งหมด พบว่ายังมีความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างเจ้าของบัญชีทรัพย์สินที่ไม่ต้องการให้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมด ขณะที่สื่อมวลชนและสังคมต้องการรู้รายละเอียดทั้งหมดเพื่อนำไปสู่การตรวจสอบทุจริต