นายจรินทร์ จักกะพาก อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่าตามที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามภารกิจการถ่ายโอนด้านการศึกษารายการเงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนอาหารเสริม (นม) นั้นกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้เน้นย้ำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ติดตามและควบคุมการบริหารจัดการและคุณภาพนมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนโดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบว่าในปีงบประมาณ 2559 มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดพบปัญหานมพาสเจอร์ไรส์ หรือ นม ยู.เอช.ที. มีลักษณะเนื้อนมเจือจางน้ำใสหรือไม่ และมีจำนวนเท่าใด โดยหากพบเห็นให้ตรวจสอบว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากกระบวนการผลิต/การขนส่ง/การเก็บรักษาของผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย หรือเป็นปัญหาจากกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ถูกต้องหรือเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือไม่ หรือเป็นปัญหาการเก็บรักษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองทั้งนี้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้มงวดในการกำกับดูแลการจัดหานมโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่ให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกระบวนการที่กำหนดในระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมติคณะรัฐมนตรี ระเบียบและหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด เพื่อให้ได้นมที่มีคุณภาพไม่เกิดผลเสียหากพบว่ามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดดำเนินการหรือกระทำการที่ส่อไปในทางทุจริตในการจัดซื้ออาหารเสริม (นม) โรงเรียนขอให้จังหวัดพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่กับผู้กระทำผิดและผู้ที่เกี่ยวข้อง กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดตรวจพบปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เน่าเสีย หรือมีลักษณะเนื้อนมเจือจางน้ำใส รวมถึงข้อร้องเรียนการให้บริการของผู้ประกอบการหรือผู้รับจ้างส่งนม กรณีละเว้นไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ปีการศึกษา 2559 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรายงานปัญหาหรือข้อร้องเรียนดังกล่าวให้คณะกรรมการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ระดับจังหวัดทราบ เพื่อแจ้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมสรุปรายงานการตรวจสอบและรายงานให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นทราบโดยด่วน