เขียนให้คิด : โดย ซีศูนย์
การส่งเรื่องความผิดที่มีลักษณะร้ายแรง
สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ บ้านเราเรื่องโควิท-19 เริ่มคลายตัวกันบ้างแล้ว สำคัญอย่าการ์ดตกกันนะครับ ยิ่งคลายกฎเรื่องการออกนอกบ้าน ในเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพฯ ก็เริ่มจะเป็นเหมือนเดิม จราจรเริ่มคับคั่ง เริ่มมีสังคมสังสรรค์กลับมา อย่าให้มีรอบ 2 ก็แล้วกันนะครับจะแรงกว่าเดิม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีวินัยไร้รากกันนี่ละครับน่ากลัว
ว่ากันต่อเรื่องเราคราวก่อน ว่ากันเรื่องความผิดที่มีลักษณะร้ายแรงที่ ป.ป.ช.กำหนดไว้ เมื่อป.ป.ช.ไต่สวนเบื้องต้นแล้วเห็นว่า ไม่มีมูล ไม่อยู่ในหน้าที่ ก็จะเสนอกรรมการไม่รับ หรือส่งไปให้หน่วยงานต้นสังกัดไปว่ากันเอาเอง ขณะเดียวกันเรื่องลักษณะใดร้ายแรง ไม่ร้ายแรง ที่ ป.ป.ช.เขาจะส่งไปให้พนักงานสอบสวนไปช่วยทำแทน ทั้งเรื่องที่มีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษไปยังพนักงานสอบสวน กล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าทุจริต และตำรวจส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ไปภายใน 30 วันก็ดี หรือที่ ป.ป.ช.รับไว้เห็นว่าเป็นคดีอาญาส่งไปให้ตำรวจทำก็ดี
แต่เดิมทางปฏิบัติของ ปปช.และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช.ก็จะไม่มีหลักเกณฑ์ชัดเจน เมื่อ ปปช.รับไว้ก็จะส่งไปยังท้องที่ที่เกิดเหตุโดยตรง โดยให้พนักงานสอบสวนท้องที่นั้น สอบสวนไปจนจบตาม ป.วิ.อาญา แล้วส่งคืน ป.ป.ช.มาพิจารณาเห็นด้วยไม่เห็นด้วยอย่างไร เข้าใจว่าส่วนกลางคือ สตช.เองอาจไม่ทราบข้อมูลชัดเจนว่า แต่ละท้องที่รับเรื่องจาก ป.ป.ช.ไปทำยังไง ดำเนินคดีหรือไม่ฟ้องหรือไม่ คือไม่มีหลักเกณฑ์ชัดเจนกันละครับ
มาจนเมื่อเดือนเมษายน 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้มีคำสั่งที่ 244/2563 ลงวันที่ 29 เมษายน 2563 กำหนดแนวทางปฏิบัติ และแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คำสั่งนี้ได้พูดถึงกรณีที่ ป.ป.ช.ส่งเรื่องที่ความผิดไม่ร้ายแรงไปให้ตำรวจทำแล้วรายผลให้ทราบนั้น ตามคำสั่งระบุว่า เพื่อให้การสอบสวนรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ จึงกำหนดการส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ และตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องดังกล่าวไว้ แยกเป็น
1. กรณีพนักงานสอบสวนท้องที่ใดรับคำร้องทุกข์กล่าวโทษและแสวงหาข้อเท็จจริง รวมทั้งรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นแล้วส่งสำนวนไปยัง ป.ป.ช. ต่อมา ป.ป.ช.มีมติส่งเรื่องคืนพนักงานสอบสวนดำเนินการตาม ป.วิ.อาญาให้พนักงานสอบสวนท้องที่นั้น เป็นผู้รับผิดชอบสอบสวนต่อไป
2. กรณีความผิดอาญา ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาทำลงในท้องที่เดียวหรือหลายท้องที่ แต่อยู่ในเขตอำนาจของกองบังคับการ หรือกองบัญชาการเดียวกันให้ดำเนินการดังนี้
2.1 กรณีความผิดเกิดอยู่ในกองบังคับการเดียวกัน ให้ผู้บังคับการออกคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสอบสวนในสังกัดของกองบังคับการนั้น เป็นพนักงานสอบสวนรับผิดชอบสอบสวน
2.2 กรณีความผิดเกิดหลายกองบังคับการ แต่ยังอยู่ในกองบัญชาการเดียวกัน ให้ผู้บัญชาการออกคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสอบสวนในสังกัดกองบัญชาการนั้น เป็นพนักงานสอบสวนรับผิดชอบสอบสวน
3. กรณีผู้ถูกกล่าวหาทำผิดหลายท้องที่และท้องทีที่ทำผิด ทำลงในเขตอำนาจต่างกองบัญชาการกัน ให้พนักงานสอบสวนในสังกัดกองปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (หรือ ป.ป.ป.ตำรวจ) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเป็นพนักงานสอบสวนรับผิดชอบสอบสวน
4. เมื่อ ป.ป.ช.ส่งเรื่องให้ สตช. ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณากลั่นกรองเรื่องแล้วมอบหมายให้กองคดีอาญาหรือสำนักงานกฎหมายและคดีแล้วแต่กรณี ส่งเรื่องไปยังพนักงานสอบสวนหรือกองบังคับการหรือกองบัญชาการเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ สตช. หากคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาแล้วเห็นควรยุติเรื่อง หรือให้ส่งคืน ป.ป.ช. ให้มอบหมายกองคดีอาญาประมวลเสนอ สตช.เพื่อพิจารณาสั่งการให้ยุติเรื่องหรือให้ส่งคืน ป.ป.ช.ต่อไป
5. ให้หน่วยงานระดับกองบังคับการหรือกองบัญชาการ รายงานผลการสอบสวนให้ ป.ป.ช.ทราบ ในนาม สตช.แล้วสำเนาเรื่องรายงาน สตช. ผ่านกองคดีอาญาทราบเป็นข้อมูล กรณี สตช.ให้ยุติเรื่องหรือให้ส่งคืน ป.ป.ช. ให้กองคดีอาญาหรือสำนักงานกฎหมายและคดีรายงานผลให้ ป.ป.ช.ทราบ
6. หากเรื่องที่ส่งมา ป.ป.ช. มีมติให้ส่งคืนพนักงานสอบสวนภายใน 30 วัน นับแต่วันรับเรื่องจากพนักงานสอบสวน ให้กองคดีอาญาส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนทันทีที่ได้รับเรื่อง โดยมิต้องให้เสนอคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณา
7. เมื่อพนักงานสอบสวนหรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน สอบสวนแล้วพบว่า เรื่องดังกล่าวนอกเหนือหน้าที่หรือเห็นควรมอบหมายหน่วยงานอื่น เป็นผู้สอบสวนให้ประมวลเรื่องเสนอความเห็นว่าเรื่องดังกล่าว ควรส่งเรื่องให้หน่วยงานใดไปยัง สตช. ผ่านกองคดีอาญาเพื่อพิจารณาส่งเรื่องให้หน่วยงานดังกล่าวสืบสวนต่อไป
ในการประมวลเสนอความเห็นต้องมีข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องโดยละเอียด รวมทั้งคำให้การของผู้กล่าวหายืนยันประกอบ เมื่อกองคดีอาญาได้รับเรื่องแล้ว ให้นำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาต่อไป
นอกจากนั้นแล้ว ตามคำสั่งดังกล่าวยังได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกลั่นกรองว่ามียังไงบ้างครับ คือในคณะกรรมการชุดนี้ จะมีผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดีหรือรองที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน แล้วยังมีรองผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี รองผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ผู้บังคับการกองกฎหมายผู้บังคับการ ป.ป.ป.ตร. ผู้บังคับการกองคดีอาญาเป็นกรรมการและเลขานุการ ก็เป็นข้าราชการหน่วยงานสังกัด สตช.ทั้งสิ้นครับ
ส่วนอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกลั่นกรองก็จะกำหนดให้ 1. มีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองเรื่องซึ่ง ป.ป.ช.ส่งมา สตช.ตั้งแต่ 22 กรกฎาคม 2561 แล้วมอบหมายให้กองคดีอาญาส่งเรื่องไปพนักงานสอบสวนหรือหน่วยงานในสังกัดของ สตช. เพื่อสอบสวนตามหน้าที่หรือเสนอ สตช.สั่งการเป็นอย่างอื่น 2. กำหนดกรอบ หลักเกณฑ์ เงื่อนไขในการกลั่นกรองเรื่อง ซึ่ง ป.ป.ช.มีมติส่งเรื่องมาว่าเรื่องใด สตช.ต้องรับไว้ดำเนินการ หรือให้ยุติเรื่องหรือให้ส่งคืน
3. กำหนดกรอบ รูปแบบ เนื้อหารายละเอียดที่เกี่ยวข้องในการนำเรื่องเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองเพื่อพิจารณา 4. เชิญหน่วยงาน บุคคลหรือเจ้าหน้าที่ชี้แจงให้ข้อมูล หรือรายงานข้อเท็จจริง หรือความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณา และ 5. รายงานผลปฏิบัติงาน ปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงานให้ สตช.ทราบ
ครับ ก็เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงการทำหน้าที่ระหว่าง ป.ป.ช.กับ สตช.ให้เกิดความชัดเจนในการทำหน้าที่สอบสวนแทน ป.ป.ช.ในเรื่องเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตมิให้เกิดความลักลั่นเช่นก่อน ที่เมื่อท้องที่รับเรื่องจาก ป.ป.ช.ไปทำแล้ว บางครั้งก็ไม่ได้รายงานหน่วยเหนือของตนเองทราบ ทั้งมิได้มีการควบคุมสำนวนให้เกิดความรอบคอบ ซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองของ สตช.ที่ตั้งขึ้น ก็อาจช่วยกรองงานคดีในเรื่องที่รับจาก ป.ป.ช.ไปทำให้เกิดความถูกต้อง ทั้งทราบข้อมูลสำนวนคดีแต่ละท้องที่
ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ทั้งเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.หรือ สตช.หรือผู้เกี่ยวข้องจะเป็นผู้ร้องเรียน หรือผู้ถูกร้องเรียนจะได้ทราบว่า หน่วยงานใดเป็นผู้ไต่สวน ผลเป็นอย่างไร และเรื่องร้องเรียนเมื่อมีการกลั่นกรองหลายฝ่าย ก็จะทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น ถ้าหากว่าผู้รับผิดชอบคดีไม่บิดผันการวินิจฉัยเสียเอง ติดตามตอนต่อไปนะครับ