ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
27 ปี ศาล รธน. นครินทร์ ย้ำ วางตัวเป็นกลาง แก้พิพาทการเมือง
10 เม.ย. 2568

ครบรอบ 27 ปี "ประธานศาลรธน." ยันวางตัวเป็นกลาง แก้พิพาทการเมือง ย้ำ ศาลเป็นผู้ช่วยแก้ ไม่ใช่ผู้สร้างปัญหา ไม่ติดแก้รัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ย้ำต้องมีองค์กรกรองอีกขั้น

เมื่อวัน 10 เม.ย. ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น นายนครินทร์ เมฆไตรรัตรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาทางวิชาการเนื่องในวาระศาลรัฐธรรมนูญ ครบ 27 ปี หัวข้อ "ศาลรัฐธรรมนูญกับการก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 บทบาทและความคาดหวัง" โดยมี คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยคณะผู้สนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะตุลาการศาลรัฐธธรรมนูญ คณะผู้บริหารสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ บุคลากรสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ คณะผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนสื่อมวลชน เข้าร่วม

โดยนายนครินทร์ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงวาระครบรอบ 27 ปี ศาลรัฐธรรมนูญกับความคาดหวังของประชาชน ว่า ศาลรัฐธรรมนูญตั้งมา 27 ปี  ย่างเข้าปีที่ 28 ในวันที่ 11 เม.ย. ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลพิเศษตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยมีระเบียบวิธีพิจารณาคดีที่ชัดเจน เชื่อว่าความคาดหวังของประชาชนมีมากขึ้น เพราะขณะนี้มีเรื่องร้องตรงมาจากประชาชนมากขึ้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ที่ไม่เคยลดน้อยลง แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความเดือดร้อนจากการถูกละเมิดสิทธิ์แต่ไม่ทราบว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร หรือเขียนคำร้องอย่างไร จึงหารือในตุลาการว่าจะต้องมีการปรับปรุง ให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับการเขียนคำร้องให้ถูกต้องตามกระบวนการ ซึ่งหากเรื่องใดที่ศาลรับได้ก็จะรับไว้พิจารณา แต่หากรับไม่ได้ก็จะไม่รับ อย่างไรก็ตาม การร้องตรงบางคนเรียกว่าการร้องทุกข์ตามรัฐธรรมนูญ เรียกว่าเป็นตัวบ่งชี้ว่าประชาชนเชื่อมั่นใจศาลรัฐธรรมนูญ เช่น คำร้องเกี่ยวกับสิทธิ์เสรีภาพการยื่นฟ้องชู้ ให้สิทธิ์ ผู้หญิงและผู้ชายเท่าเทียมกันในการยื่นร้องแต่ละฝ่าย ซึ่งที่ผ่านมา มีเพียงฝ่ายชายที่ยื่นฟ้องฝ่ายหญิง แต่ศาลชี้ชัดว่า การฟ้องชู้ของผู้หญิงสามารถยื่นฟ้องได้ ไม่ว่าชู้นั้นจะเป็นหญิงหรือชาย ซึ่งศาลได้แก้ไขสิทธิ์ตรงนี้ให้ใช้อย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกัน

“แสดงให้เห็นว่าในทางหนึ่ง สถาบันข้างเคียงไม่ได้ปฏิเสธอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ การเผชิญหน้ากันของสถาบันต่างๆ หมดไปแล้ว คาดว่าจะถึงยุคที่จะพัฒนาไปสู่ความร่วมมือระหว่างสถาบันต่างๆ”นายนครินทร์ กล่าว

เมื่อถามว่าศาลรัฐธรรมนูญหนักใจหรือไม่ ด้วยถูกมองว่าเป็นองค์กรที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการล้มล้างรัฐบาล เช่น ล่าสุด สว.ประกาศว่าจะฟ้องจริยธรรมสภาหากรับหลักการร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ นายนครินทร์ กล่าวว่า การที่องค์กรต่างๆ มีปัญหากันเอง และแก้ปัญหาด้วยตัวเองไม่ได้ ก็ต้องหาองค์กรภายนอกเข้ามาช่วย และองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่สามารถช่วยได้ก็มีแต่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลมีหน้าที่ควบคุมความชอบด้วยกฎหมาย ให้สังเกตว่าคนพยายามยื่นเรื่องก็จะใช้วิธีการขู่ว่าจะยื่นศาล แต่ศาลจะพิจารณาด้วยความระมัดระวังรอบคอบว่าผู้ร้องมีสิทธิ์ยื่นร้องหรือไม่ หรือศาลมีอำนาจที่จะตัดสินเรื่องนั้นหรือไม่ หากไม่ใช่ก็จะไม่ยื่นมือไปเกี่ยวข้อง 

เมื่อถามย้ำว่าหนักใจหรือไม่ที่จะต้องตัดสินคดีทางการเมือง ชี้ขาดผู้ดำรงตำแหน่งพ้นจากหน้าที่ นายนครินทร์ กล่าวว่า ความหนักใจเป็นเรื่องธรรมดา แต่เรื่องการเมืองเป็นเพียงส่วนหนึ่งของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้พยายามบอกกับทุกคนว่า ศาลเป็นองค์กรควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย ส่วนการตัดสินคดีทางการเมือง เป็นหน้าที่เสริมเท่านั้น แต่คนสนใจแค่อำนาจหน้าที่เสริม เช่น เมื่อไม่กี่วันศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีก็ตัดสินให้ประธานาธิบดีพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด เพราะมีกลไกพิจารณา ซึ่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้มาจากการเลือกตั้งทางตรงจากประชาชน ไม่ได้มาจากรัฐสภา ไม่ได้มาจากพรรคการเมือง เป็นตัวอย่างให้เห็น 

เมื่อถามว่า มีบางฝ่ายมองว่ามีคนใช้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้ง นายนครินทร์ กล่าวว่า เป็นธรรมดา เพราะต่างฝ่ายต่างช่วงชิง แต่ศาลวางตัวเป็นกลาง ตั้งมั่นอยู่ในกฎกติกาศาลรัฐธรรมนูญ เวลามีคำร้องเข้ามาไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกลั่นแกล้ง ซึ่งมีคนส่งเข้ามาเยอะแยะ แต่ศาลก็จะดูว่าผู้ร้องมีสิทธิ์ร้องหรือไม่ ถูกขั้นตอนหรือไม่ ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขตามกฎหมายก็ตัดออก เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมาก็มีให้เห็น ในคำร้องที่ 1 ที่ศาลได้ออกเอกสารข่าวมา เขากลั่นแกล้งกันเต็มที่เราก็ตัดออก ทั้งนี้ ตนไม่ขอให้รายละเอียดข่าว

เมื่อถามว่า มีการวิพากษ์วิจารย์ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายนครินทร์ กล่าวว่า เรื่องที่มาหากอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องไปแก้ที่รัฐธรรมนูญ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายกำหนดว่าการสรรหาเห็นชอบต้องผ่านวุฒิสภา แต่มีที่มา 2 ส่วน คือผู้แทนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา และที่ประชุมใหญ่ศาลปกครอง 2 คนก็ต้องผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา และกรรมการสรรหาอีก 4 คน ก็ต้องผ่านวุฒิสภา 

“ผมไม่ขัดข้องหากจะแก้รัฐธรรมนูญเรื่องที่มา แต่อย่างไรก็ตาม ควรที่จะมีองค์กรที่ให้การรับรองอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่กรรมการสรรหาได้ลงมติไปแล้ว” นายนครินทร์ กล่าว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 เมษายน 2568
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
03 เม.ย. 2568
จากสถาปนิกหนุ่ม ..... สู่สายธารเพื่อสังคมคนเขาใหญ่ ปัจจุบันในพื้นที่เขาใหญ่นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย และด้วยอาณาบริเวณโอบล้อมไปด้วยธรรมชาติ ทั้งเทือกเขาที่รายล้อมไปทั่ว และยังรวมถึงธารน้ำที่รื่นร่มอีกหลายแห่ง ที่สำคัญไม่ห่างไก...