นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) กล่าวถึงความคืบหน้าการทดลอง ทดสอบวัคซีนโควิด-19 โดยใช้สารพันธุกรรมของเชื้อ “ชนิด mRNA” ในลิง ว่า หลังจากได้ทดลองวัคซีนโควิด-19 ในลิง เข็มที่หนึ่ง ที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวัคซีนที่พัฒนาโดยทีมนักวิจัยไทยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ พบว่า ลิงทุกตัวมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีผลข้างเคียงจากวัคซีน และเมื่อนักวิจัยได้ทำการเจาะเลือดของลิงมาทำการทดสอบการสร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี มีข่าวดีมากที่พบว่า ลิงที่ได้รับวัคซีนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับที่น่าพอใจ ดังนั้น ทีมวิจัยจึงเดินหน้าต่อไปตามแผนโดยจะฉีดวัคซีนกระตุ้นเป็นเข็มที่สอง ในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ หากเป็นไปตามที่คาดไว้จะทำการทดสอบในมนุษย์ได้ประมาณเดือน ตุลาคม - พฤศจิกาตามแผน
นายสุวิทย์ กล่าวต่อว่า ตนได้มอบให้ นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับ นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ นำคณะผู้เชี่ยวชาญและสื่อมวลชน ไปติดตามความคืบหน้าของและตรวจสอบรายละเอียดของการทดสอบ เพื่อให้คำแนะนำและเตรียมรายละเอียดการดำเนินงานในขั้นต่อไป
“ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายเพื่อให้คนไทยสามารถมีวัคซีนอย่างรวดเร็วเป็นลำดับแรกๆ เมื่อสามารถพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จ โดยมอบให้ อว. และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันดำเนินงานในเชิงรุก ทั้งโดยการวิจัยและพัฒนาในประเทศ และร่วมมือกับต่างประเทศ รวมทั้งเตรียมการผลิตให้ทันท่วงทีและเพียงพอ ในขณะนี้ ยังได้เจรจาหารือกับต่างประเทศในการร่วมวิจัย ถ่ายทอดเทคโนโลยีและเตรียมการผลิตไว้ด้วยแล้ว”รมว.อว. กล่าว
ด้าน นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า ในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ จะทำการฉีดวัคซีนเป็นเข็มที่สอง แล้วจะเจาะเลือดมาตรวจเป็นระยะ ซึ่งคาดว่าระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อก่อโรคโควิด-19 จะระดับเพิ่มขึ้นในอีกประมาณสองสัปดาห์นับจากนี้ และจะฉีดเข็มที่สามต่อไปในเดือนสิงหาคม ขณะนี้การวิจัยและพัฒนาเป็นไปตามแผนงาน ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ประเมินผลการทดสอบในลิงทั้งในด้านผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและด้านความปลอดภัยเสร็จแล้วก็จะเข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ต่อไป โดย วช. ได้ตกลงให้ทุนวิจัยเพิ่มเติมอีกเพื่อให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสามารถเริ่มสั่งผลิตวัคซีนชนิดนี้ให้พร้อมสำหรับทำการทดสอบในมนุษย์ไว้แล้ว
“นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.ศูนย์วิจัยวัคซีน และ นางสุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผอ.ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แจ้งผลการวิจัยโดยละเอียดว่าจากการทดสอบด้านความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA นี้ หลังจากฉีดวัคซีนแล้วลิงทุกตัวมีสุขภาพแข็งแรง เป็นปกติ โดยได้ตรวจสอบใกล้ชิดกับทีมสัตวแพทย์ของศูนย์ฯ ทั้งสภาพทั่วไป ไม่มีไข้หรือการแพ้วัคซีน สภาพและอาการของระบบสมองและประสาท ระบบหัวใจ ระบบทางเดินหายใจ การกินอาหาร ตลอดจนด้านพฤติกรรมเป็นปกติ แสดงถึงความปลอดภัย ซึ่งเป็นกำลังใจว่าจะสามารถพัฒนาวัคซีนสู่การใช้ในมนุษย์ และแสดงศักยภาพการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในประเทศไทย ที่นับว่าเป็นการวิจัยที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำได้” นพ.สิริฤกษ์ กล่าว