งวดเข้ามาทุกขณะสำหรับวันดีเดย์ลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องนี้คงไม่ใช่เป็นเรื่องของคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หากแต่มีความหมายโดยมีนัยสำคัญยิ่งต่อประชาชนทั้งประเทศ ฉะนั้นช่วงนี้จึงได้เห็นบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งมีหน้าที่ชี้แจงทำความเข้าใจในเรื่องประชามติ และเนื้อหารัฐธรรมนูญทั้งหมดออกเดินสายเพื่อให้คนไทยเข้าใจเนื้อความที่ต้องการอยากจะสื่อให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามที่ใส่พ่วงลงไป ซึ่งก็ว่ากันว่านี่อาจเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายที่จะทำให้รัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่???
นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่ 1 พูดบนเวทีบรรยายเรื่อง คำถามพ่วงของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการสัมมนาให้ความรู้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช…. ให้แก่คณะกรรมการศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า จัดโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจและสำคัญดังนี้
เนื้อหากล่าวถึงที่มาของการเสนอคำถามพ่วงท้ายของสภานิติบัญญัติ จากการประชุมสปท. เมื่อวันศุกร์ที่ 1 เมษายน 2559 ที่เห็นชอบให้เสนอประเด็นคำถามต่อ สนช. เพื่อประกอบการพิจารณาในการเสนอคำถามที่สมควรให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการออกเสียงประชามติเพิ่มเติม โดยนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เป็นผู้เสนอญัตติ (ประเด็นคำถาม คือ “ ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่ในระยะ 5 ปีแรกนับแต่ วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ความเห็นชอบ ของรัฐสภา ” )
เหตุผลที่ต้องมีคำถามเพิ่มเติม เนื่องจากนายกรัฐมนตรี คือหัวหน้าทีมที่ทำให้การปฏิรูปประเทศประสบผลสำเร็จ เพราะตามยุทธศาสตร์ชาติ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี จึงจะวางรากฐานการปฏิรูปประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ชาติมั่นคง เศรษฐกิจมั่งคั่งยั่งยืน ประเทศมีความสงบปรองดอง และรัฐสภาประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งทำหน้าที่กำกับให้มีการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ
พร้อมกันนี้ยังได้อธิบายเพิ่มเติมถึงเหตุผลที่ต้องมีคำถามเพิ่มเติม เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 กำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติตั้งคำถามเพิ่มเติมในการลงประชามติหนึ่งคำถาม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศได้เสนอประเด็นคำถามให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติเห็นควรตั้งคำถามเพิ่มเติม ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) และเพื่อให้มีกลไกในการดูแลการปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่องในช่วงเปลี่ยนผ่านระยะ 5 ปี
คำถามพ่วงของสปท.ที่เสนอต่อ สนช.คือ “ ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่ในระยะ 5 ปีแรก นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากความเห็นชอบของรัฐสภา ” มีสมาชิกสปท. 40 คนเป็นอาสาสมัครเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจสาระสำคัญของประเด็นคำถามให้ประชาชนใน 9 กลุ่มจังหวัด แบ่งพื้นที่จัดอบรม ได้แก่ กลุ่มจังหวัดลพบุรี กลุ่มจังหวัดชลบุรี กลุ่มจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กลุ่มจังหวัดอุดรธานี กลุ่มจังหวัดบุรีรัมย์ กลุ่มจังหวัดภูเก็ต กลุ่มจังหวัดสงขลา กลุ่มจังหวัดเชียงใหม่ และกลุ่มจังหวัดพิษณุโลก ส่วนกรุงเทพมหานครจะเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ในวันที่ 1 กรกฎาคม – 5 สิงหาคม 2559
ขณะที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 1 ได้บรรยายบนเวทีเดียวกันว่า แม้ขณะนี้ประเทศไทยจะยังไม่เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ แต่ไทยก็ยังได้นำกระบวนการของประชาธิปไตยมาใช้ ดั่งเช่นการทำประชามติที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ซึ่งกำหนดใช้กติกาแบบสากล โดยได้ชี้แจงสาเหตุที่ สนช. ต้องตั้งคำพ่วงการทำประชามติ เพราะมีเป้าหมายในการปฏิรูปประเทศ โดยย้ำว่าคำถามพ่วงประชามติไม่ได้เปิดช่องว่างให้มี นายกรัฐมนตรีคนนอก และสาเหตุที่ร่างรัฐธรรมนูญในการทำประชามติครั้งนี้ ต้องมีเนื้อหาสาระปฏิรูปประเทศหลายด้าน เนื่องจากก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557 ประเทศไทยมีปัญหาความขัดแย้งรุนแรง จึงทำให้เกิดการปฏิรูปประเทศครั้งยิ่งใหญ่ตามมา ดังนั้น จึงควรต้องมีการกำหนดบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญสำหรับการทำประชามติ
นอกจากนี้ นายสุรชัย ยังเปิดเผยถึงการจัดเวทีอบรมครู ค. ซึ่งส่วนตัวมองว่าผลจากการจัดเวทีอบรมครูทุกระดับ ประสบความสำเร็จ 80% โดยหลังจากนี้ครู ค. จะลงพื้นที่สร้างความเข้าใจเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญและสาระสำคัญรวมทั้งคำถามพ่วงท้ายให้กับประชาชน ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้ครูทุกระดับต้องลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับประชาชนเท่านั้น โดยห้ามชี้นำประชาชนในการออกเสียงประชามติ ส่วนกรณีที่หากมีหัวคะแนนพรรคการเมืองลงพื้นที่สร้างการรับรู้ร่างรัฐธรรมนูญด้วยนั้น นายสุรชัย ชี้ว่าเป็นเรื่องที่ดี ทำให้มีความหลากหลาย จึงขอให้มองในแง่บวก
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์วิทยุรัฐสภา 7 เมษายน 2559 ได้รายงานว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ลงมติตัดสินใจเลือก คำถามพ่วง ที่จะถามประชาชนควบคู่ไปกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยเลือกคำถามที่เสนอโดยสปท.ว่า “ ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ” ซึ่งที่ประชุมสนช. ได้ลงมติด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 152 คน งดออกเสียง 15 คน จากผู้เข้าประชุม 167 คน
นับจากนี้จึงต้องจับตาเกาะติดกันต่อไปอย่างใกล้ชิดว่า คำถามพ่วงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ จะเป็นตัวพลิกผันต่อร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศฉบับนี้หรือไม่ นั่นเพราะการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญคงมิได้มีผลกระทบต่อกฏหมายฉบับหนึ่งเท่านั้น แต่หากยังวัดชะตาคณะผู้มีอำนาจปัจจุบันด้วย