ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 19 มิ.ย.2563 เผยแพร่คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีการแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ผู้ร้องราย นายไชยวัฒน์ แย้มนาค สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี (ส.อบจ.) จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น จำนวน 4 ครั้ง พิพากษายกคำร้อง คดีขาดอายุความ 5 ปี ส่วนกรณี ยื่นบัญชีฯเท็จ กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีในการดำรงตำแหน่ง วาระที่ 1 นั้น กฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่มิได้กำหนดให้ต้องยื่น ถือว่าไม่เป็นความผิด
รายละเอียดดังนี้
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้นกรณีเข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี วาระที่ 1 กรณีพ้นจากตำแหน่งวาระที่ 1 กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี วาระที่ 1 และกรณีเข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี วาระที่ 2 ให้ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด วาระที่ 2 ที่ดำรงอยู่ปัจจุบัน และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561มาตรา 81, 114
ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพ
พิเคราะห์คำร้อง ประกอบเอกสารตามคำร้อง และคำให้การของผู้ถูกกล่าวหาแล้ว เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดและมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2561 โดยมาตรา 3 ของพระราชบัญญัตดิ งั กล่าวให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แต่มาตรา 167 ยังคงบัญญัติให้การกระทำตามคำร้องเป็นความผิดอยู่และมีระวางโทษเท่าเดิม จึงต้องใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่คดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง เมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 119 มิได้บัญญัติอายุความไว้เป็นการเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยอายุความมาใช้แก่ความผิดในคดีนี้ ดังนั้นถ้าผู้ร้องมิได้ยื่นคำร้องและมิได้ตัวผู้ถูกกล่าวหามายังศาลภายในกำหนด 5 ปี ย่อมเป็นการขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (4) คดีนี้ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องอันถือเป็นวันกระทำความผิด กรณีเข้ารับตำแหน่ง วาระที่ 1 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2551 กรณีพ้นจากตำแหน่ง วาระที่ 1 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2555 และกรณีเข้ารับตำแหน่ง วาระที่ 2 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2555 นับถึงวันที่ 7 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นวันยื่นคำร้องคดีนี้เกินกำหนด 5 ปีแล้ว คดีส่วนอาญาจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 8 วรรคสาม ส่วนที่ผู้ร้องมีคำขอให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหานั้น มิใช่กฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิด และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542มาตรา 34 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิด ถือเป็นมาตรการบังคับทางการเมืองอันเป็นการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลซึ่งสืบเนื่องมาจากการกระทำความผิดทางอาญาดังกล่าวเมื่อสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับแล้ว จึงไม่อาจนำมาตรการบังคับทางการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 34 มาบังคับ
แก่ผู้ถูกกล่าวหาได้
สำหรับกรณียื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีในการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี วาระที่ 1 นั้น
เห็นว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2561 ซึ่งมิได้กำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้อง กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี อันเป็นกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นผู้กระทำการนั้นจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (5) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 8 วรรคสามกรณีย่อมไม่อาจนำมาตรการบังคับทางการเมืองมาใช้บังคับแก่ผู้ถูกกล่าวหา ดังที่วินิจฉัยไว้ข้างต้นเช่นกัน พิพากษายกคำร้อง (คดีหมายเลขแดงที่ อม.232/2562 วันที่ 11 ก.ย.2562)