ภายใต้ภารกิจสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทย เพื่อให้มีพลังงานไฟฟ้าทุกหน่วยได้ใช้อย่างเพียงพอและเต็มเปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพ เรื่องนี้มีผู้อยู่เบื้องหลังหลากหลายภารกิจที่คอยเป็นแรงสนับสนุนให้ได้มาซึ่งความมั่นคงดังกล่าว ผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน คือ หนึ่งในเบื้องหลังที่ทำหน้าที่เฝ้าระวัง ตรวจวัด ติดตามและบำรุงรักษาเขื่อน เป็นประจำอยู่ในทุกๆเขื่อนของ กฟผ. เพื่อสร้างความอุ่นใจในด้านความมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัยของเขื่อนให้กับประชาชน
การตรวจเขื่อนให้มั่นคง ปลอดภัย เขามีกระบวนการทำงานอย่างไร เราจะขอพาผู้อ่านทุกท่านร่วมตามติดชีวิตของผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อนที่ปฏิบัติกันเป็นประจำทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือนเพื่อตอกย้ำความมั่นใจว่าเขื่อนยังคงมีความมั่นคงแข็งแรง สามารถเก็บกักน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ ด้านชลประทาน การเกษตรกรรม อุปโภค-บริโภครักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็ม รวมทั้งการเก็บกักน้ำที่มีมากมายในฤดูฝน เพื่อป้องกันการเกิดอุทกภัย และที่สำคัญผลพลอยได้จากน้ำที่ปล่อยทุกหยาดหยด สามารถนำมาใช้ประโยชน์ให้เกิดเป็นพลังงานไฟฟ้าสร้างความสุขให้กับประชาชนอีกด้วย
ทุกเช้าในขณะที่หลายๆคนเริ่มประกอบกิจวัตรประจำวันทีมผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน ต้องตื่นเช้าตั้งแต่ไก่โห่มุ่งหน้าขึ้นสันเขื่อน เพื่อตรวจวัดค่าอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยาเริ่มตั้งแต่วัดอุณหภูมิสูงต่ำ วัดค่าการระเหยของน้ำ วัดปริมาณน้ำฝน วัดความชื้นสัมพัทธ์ วัดระดับน้ำ อ่านดูแล้วเหมือนเป็นภารกิจที่ไม่ได้ยุ่งยากอะไร แต่หารู้ไม่ว่าข้อมูลเหล่านี้สำคัญกับชีวิตประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะทีมผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน จะต้องนำข้อมูลไปคำนวณปริมาณน้ำเข้า-ออกในอ่างเก็บน้ำ เพื่อใช้สำหรับบริหารจัดการรองรับสถานการณ์น้ำหลาก-น้ำแล้งหากพบว่า น้ำเข้าเขื่อนมีปริมาณมาก และมีฝนตกหนักอาจสร้างผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อนและเกิดน้ำท่วมไปถึงบ้านเรือนของประชาชนได้ ซึ่งนี่เป็นเพียงภารกิจแรกที่ผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อนต้องทำเป็นประจำทุกวันไม่มีวันหยุด
ในทุกๆสัปดาห์ ทีมผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน จะมีภารกิจเข้าอุโมงค์ตรวจสอบความมั่นคงเขื่อน ซึ่งไม่ใช่อุโมงค์ที่ใครๆก็สามารถเข้าได้ เพราะในอุโมงค์นี้เป็นพื้นที่อับอากาศ ผู้ที่จะเข้าไปต้องผ่านการอบรมการทำงานในที่อับอากาศมาแล้วเท่านั้น และยังต้องมีการวัดค่าออกซิเจนในอากาศให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานก่อนทุกครั้งจึงจะสามารถเข้าทำงานได้ ส่วนความกว้างของอุโมงค์ตรวจสอบความมั่นคงเขื่อน แต่ละเขื่อนมีความกว้างไม่เท่ากัน เช่นอุโมงค์ที่เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนที่เก็บกักน้ำได้มากที่สุดของประเทศไทย มีความกว้างของรากฐานกว่า 586 เมตรหรือเทียบได้กับกำแพงเมืองจีนซ้อนกันมากกว่า 150 ชั้น ทำหน้าที่คั่นกลางระหว่างเหนือน้ำและท้ายน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนทีมผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน จะต้องเข้าตรวจสอบสำรวจสภาพคอนกรีตของอุโมงค์ด้วยสายตา โดยลงบันไดชันที่มีความสูงราว ตึก 15 ชั้น และลงบันไดเวียนอีกมากกว่า 250 ขั้นภายใต้ความมืดที่อาศัยแสงสว่างจากไฟฉายและโคมไฟเล็กๆในอุโมงค์เท่านั้น แต่ด้วยความชำนาญของทีมผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน ความท้าทายดังกล่าว จึงไม่เป็นอุปสรรคใดๆ ต่อการหาร่องรอยและสำรวจสภาพคอนกรีตในอุโมงค์ ซึ่งหากพบความผิดปกติเล็กๆน้อยๆ จะต้องรีบดำเนินการแก้ไขโดยทันที
สำหรับการเข้าไปภายในอุโมงค์ ยังมีภารกิจสำคัญที่ต้องตรวจสอบความมั่นคงเขื่อนด้วยเครื่องมือต่างๆ เช่น วัดแรงดันน้ำ เพื่อติดตามแรงดันน้ำในฐานรากเขื่อน ตรวจวัดอัตราการไหลซึมของน้ำผ่านตัวเขื่อน และตรวจวัดระดับน้ำใต้ดิน ให้มีค่าวัดอยู่ในเกณฑ์ปกติตลอด หากพบค่าบวก/ลบที่ผิดปกติ ทีมผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน จะไม่นิ่งนอนใจและจะต้องเข้าตรวจสอบสาเหตุและซ่อมแซม เพื่อรักษาสภาพของตัวเขื่อนให้มีความมั่นคงปลอดภัยอยู่เสมอ
ไม่เพียงเท่านั้น ตัวเขื่อนที่สร้างขึ้นมาทำหน้าที่กั้นน้ำจำนวนมหาศาลจนเกิดเป็นอ่างเก็บน้ำ ต้องรองรับแรงดันที่เกิดจากน้ำเหล่านั้น จึงมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเกิดการทรุดตัวและเคลื่อนตัวจากแรงดันน้ำ แต่การทรุดตัวและเคลื่อนตัวนั้น ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ออกแบบไว้ก่อนการสร้างเขื่อน ดังนั้น ทีมผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน จึงต้องติดตามและคอยตรวจเช็คการทรุดตัวและเคลื่อนตัวของตัวเขื่อน ทุกๆ 3 เดือน เพื่อยืนยันว่าเขื่อนยังมีความมั่นคงแข็งแรงอยู่เสมอ
นอกจากนั้นการตรวจเขื่อนไม่เพียงแค่นำเครื่องมือวัดมาใช้ ยังต้องเดินสำรวจสันเขื่อนที่เป็นแนวหินเสริมความแข็งแรงทีละก้อนด้วยสายตาและความชำนาญสูง เพราะมีความลาดชันและสูงกว่า 140 เมตร เพื่อตรวจสอบการทรุดตัวของแนวหินทิ้งลาดท้ายเขื่อนและสิ่งผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับแนวหินทิ้งทั้งหมด
การระบายน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆจะต้องเป็นน้ำที่ปราศจากขยะและสวะจึงได้มีการจัดทำทุ่นลอยน้ำพร้อมตะแกรงกันขยะใต้น้ำเพื่อคอยทำหน้าที่กั้นขยะบริเวณเหนือน้ำก่อนที่น้ำจะไหลเข้าสู่ท่อส่งน้ำทีมผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อนต้องคอยดูแลทุ่นลอยน้ำดังกล่าวให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมทั้งคอยเก็บขยะและสวะอยู่เป็นประจำทุกๆสัปดาห์ อีกทั้งทีมผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยต้องสำรวจอ่างเก็บน้ำอยู่เสมอเพื่อสังเกตการรุกล้ำของสิ่งก่อสร้างถาวรในพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำ หากพบสิ่งก่อสร้างถาวรที่รุกล้ำ ต้องมีการส่งจดหมายแจ้งเตือนให้ผู้บุกรุกรับทราบทันทีเพื่อป้องกันผลกระทบต่ออ่างเก็บน้ำ ความมั่นคงปลอดภัยเขื่อนและสิ่งแวดล้อม
ทั้งหมดนี้เป็นภารกิจของ ผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน ที่ล้วนแล้วแต่ใช้ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนงาน โดย ทีมผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน ยังคงมุ่งมั่นในการดูแลและบำรุงรักษาเขื่อนทุกเขื่อนของ กฟผ. ทั่วทั้งประเทศไทยให้มีความมั่นคง ปลอดภัย เพื่อคอยเป็นเบื้องหลังในการผลิตไฟฟ้าสร้างความสุขและอยู่เคียงข้างสังคมไทยตลอดไป
บทความ : หสฟ-ย. กสห-ย.
ภาพ : หกภ-ย. กสผส-ย.