นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยภายหลังลงนามร่วมมือลงนามบันทึกข้อตกลงด้าน 'การพัฒนาการออกแบบ การผลิต และมาตรฐาน สำหรับเรือไฟฟ้าที่มีคุณภาพ เพื่อความปลอดภัยในการขนส่งทางน้ำ และส่งเสริมการพาณิชยนาวี เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตเรือไฟฟ้าเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งระดับประเทศ โดยตั้งเป้าหมายที่จะเปิดตัวเรือไฟฟ้าต้นแบบ 1 ลำ ในวันที่ 5 สิงหาคมปีนี้ ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสถาปนากรมเจ้าท่า
อย่างไรก็ตามในการประกอบเรือต้นแบบในขณะนี้การประกอบเรือที่ใช้อลูมิเนียมเป็นวัสดุหลัก มีความคืบหน้าไปมาก ปัจจุบันอยู่ระหว่างการติดตั้งระบบไฟฟ้าให้ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ โดยข้อดีของการนำเรืออลูมิเนียมไฟฟ้ามาให้บริการนี้ มีทั้งในเรื่องของการที่ปัจจุบันการประกอบเรือที่ใช้วัสดุไม้นั้นจัดหาวัสดุไม้ได้ยาก ขณะที่การประกอบเรืออลูมิเนียมนั้นจะใช้เวลาเพียง 2 เดือน ในขณะที่การประกอบเรือไม้จะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี รวมทั้งวัสดุอลูมิเนียมนั้นจะมีความคงทนในระยะ 20 ปี ทำให้ต้นทุนในการบำรุงรักษาจะต่ำมาก
สำหรับการนำพลังงานไฟฟ้ามาติดตั้งกับเรือนั้น แม้ขณะนี้ราคาแบตเตอรี่จะมีราคาที่สูงอยู่ แต่เชื่อว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้าราคาก็จะมีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้การประกอบเรืออลูมิเนียมพลังงานไฟฟ้าลำนึงจะใช้ต้นทุนประมาณ 40 ล้านบาท และเรือ 1 ลำ จะสามารถจุผู้โดยสารได้ประมาณ 100 คน ใกล้เคียงกับเรือที่ใช้วัสดุไม้ โดยหลังจากเรือต้นแบบแล้วเสร็จในอนาคตหากผู้ประกอบการเรือโดยสารในพื้นที่กรุงเทพฯปริมณฑลไม่ว่าจะเป็นเรือด่วนเจ้าพระยา หรือเรือด่วนคลองแสนแสบ ก็สามารถว่าจ้างผลิตเพื่อนำเรืออลูมิเนียมไฟฟ้ามาให้บริการแก่ประชาชนได้
“โดยย้ำว่า ความร่วมมือการพัฒนาการผลิตเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าลำแรกของไทยในครั้งนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานะบบการขนส่งทางน้ำ และการพาณิชยนาวีของไทย”นายวิทยา กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมเจ้าท่าได้ร่วมกับหน่วยงานจากภาครัฐ และเอกชน ได้แก่ กรมเจ้าท่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)บ้านปูเน็กซ์ บริษัทลูกของบริษัท บ้านปูจำกัด(มหาชน) และบริษัท สกุลชื่อินโนเวชั่น จำกัด ร่วมมือลงนามบันทึกข้อตกลงด้าน 'การพัฒนาการออกแบบ การผลิต และมาตรฐาน สำหรับเรือไฟฟ้าที่มีคุณภาพ เพื่อความปลอดภัยในการขนส่งทางน้ำ และส่งเสริมการพาณิชยนาวี เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตเรือไฟฟ้าเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งระดับประเทศ และนานาชาติ นำไปสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเรือไฟฟ้าของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงช่วยประหยัดพลังงาน ยังช่วยลดมลพิษทางน้ำ และทางอากาศในระยะยาว อีกทั้งมีส่วนช่วยคืนความยั่งยืน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในชุมชน และนักท่องเที่ยว