ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
ผ่างบท้องถิ่นดูเกมสกัดคสช.หั่น2.2หมื่นล้าน
17 ก.ค. 2559

          หลังตัวแทน 3 สมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. กรณีสำนักงบประมาณตัดงบประมาณปี 2560 ของท้องถิ่น 2.2 หมื่นล้านซึ่งตัวแทนท้องถิ่นบอกว่ามีความสำคัญในการดำเนินงาน 9 ภารกิจหลัก เช่น ซ่อมแซมถนน 1.2 หมื่นล้าน เงินอุดหนุนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เงินอุดหนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กประจำตำบล งบอุดหนุนการพัฒนาการศึกษาโดยงบประมาณที่ถูกตัดจะเริ่มมีผลตั้งแต่ 1ต.ค. 2559 หากไม่เตรียมการแก้ปัญหาจะเกิดความยุ่งยากตามมา

          จากนั้นนายวิษณุ ก็บอกว่าภาพรวมปีนี้รัฐเพิ่มงบประมาณให้ท้องถิ่นมากกว่าปีที่แล้วกว่า 29 เปอร์เซ็นต์ แต่บางรายการต้องตัดออก เช่น เรื่องศูนย์เด็กเล็ก สนามกีฬา อาคารเรียน เพราะมีเสียงบ่นว่าให้นำถนนทางหลวงชนบทไปให้ท้องถิ่นซ่อม แต่ท้องถิ่นไม่มีงบซ่อม ถนนตามที่ต่างๆท้องถิ่นต้องเสียค่าไฟฟ้า แต่ทางหลวงชนบท ทางหลวงแผ่นดินไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้า ซึ่งนโยบายรัฐต้องดูแลในภาพงบประมาณทั้งประเทศ งบท้องถิ่นในภาพรวมจัดงบเพิ่มให้แล้ว ส่วนงบที่ต้องตัดออกไปเพราะ 1.จะเพิ่มรายได้ให้กับท้องถิ่นด้านอื่นในการจัดเก็บ 2.ต้องทำงานอย่างบูรณาการ อาจจะโยกงบนั้นไปใส่ในงบนี้ ส่วนงบที่จะแปรญัตติเพิ่มคงยาก ระหว่างนี้ต้องหารายได้ทางอื่นมาจัดการแล้วค่อยใส่เพิ่มเข้าไป

          และก็เป็นที่มาของการวิเคราะห์ คาดการณ์กันว่า การตัดงบก้อนดังกล่าว จะส่งผลสะเทือนไปถึงการลงประชามติรัฐธรรมนูญในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ เพราะมองกันว่าเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นมีสมาชิกอยู่เป็นจำนวนมากทั่วประเทศ ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในพื้นที่ ซึ่งการสร้างความไม่พอใจ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. และหากปล่อยให้เรื่องค้างคาไว้ โดยไม่แก้ไข เยียวยา อาจบานปลายนำไปสู่ความขัดแย้งและท้ายที่สุดก็จะส่งผลต่อต่อโรดแมปไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

          อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่คสช.เข้ามา ก็ได้ให้ความสนใจในเรื่องงบประมาณเงินอุดหนุนให้กับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่แล้ว ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2558 โดยมีคำสั่งฉบับที่ 88/2557 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 โดยคำสั่งนี้ระบุว่า เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปอย่างทั่วถึง เป็นธรรม ตามนโยบาย มีการแต่งตั้ง กรรมการมีอำนาจหน้าที่ พิจารณาความเหมาะสมจัดสรรงบประมาณ กำกับดูแล การจัดทำ และบริหารงบประมาณให้เป็นไปตามนโยบายคสช. รายงานผลการดำเนินการ และเสนอแนะความเห็นให้หัวหน้าคสช.ทราบโดยเร็ว

          โดยจากเดิมที่ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการกระจายอำนาจ ซึ่งในห้วงเวลาปกตินายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รวมถึงมีตัวแทนจาก อปท.เป็นคณะกรรมการ ซึ่งจากนโยบายของ คสช. ให้มีการประสานและบูรณาการงบประมาณในระดับกระทรวง ทุกกระทรวงและในระดับพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนและเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมหารือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อบูรณาการแผนพัฒนาท้องถิ่นกับยุทธศาสตร์จังหวัด

          ขณะเดียวกันมีกระแสข่าวที่ คสช. เข้ามาควบคุมเงินอุดหนุนอปท. เป็นผลมาจากท้องถิ่นหลายแห่งให้ข้อมูลกับคสช.ว่า งบประมาณจำนวน 2 แสนล้านบาท ที่จัดสรรให้ท้องถิ่นนั้น เป็นแหล่งผลประโยชน์ใหญ่ที่นักการเมืองได้แบ่งสันปันส่วนโควตากัน โดยได้จัดทำโครงการและจัดหาผู้รับเหมามารับงานเพื่อเรียกรับผลประโยชน์กันอย่างเอิกเกริก  ซึ่งคสช. มีข้อมูลว่าในงบประมาณอุดหนุนฯอปท.ทั่วประเทศปีละ 2 แสนล้านบาทนั้น กว่า 30% หรือคิดเป็นเงิน 6 หมื่นล้านบาท ถูกหักเป็นค่าหัวคิวให้กับนักการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ โดยเฉพาะโครงการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดให้ นั้นก็คือโครงการเฉลิมพระเกียรติ โครงการน้ำท่วมน้ำแล้งและที่สำคัญโครงการที่เกี่ยวกับการป้องกัน/แก้ไขปัญหายาเสพติด พูดให้ชัดลงไปก็คือว่า คสช.ยังมองว่า อปท.เป็นฐานสำหรับการเคลื่อนไหวทางการเมือง

          อย่างที่ทราบกันแนวคิดปฏิรูปกระจายอำนาจเกิดขึ้นตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 บังคับให้รัฐบาลกระจาย และถ่ายโอนอำนาจให้ท้องถิ่น บังคับให้จัดสรรงบประมาณให้อปท. 35% โดยเฉพาะกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ตั้งขึ้นสมัยรัฐบาลทักษิณ 1 มีกลไกกระชับอำนาจให้ระบบบริหารราชการรวมศูนย์ผ่านงบประมาณอุดหนุนให้ท้องถิ่น บีบบังคับให้ท้องถิ่นสวามิภักดิ์ ยอมเป็นพวกและก็กินหัวคิวงบประมาณส่วนนี้โดยตรง และคสช.ยังมีข้อมูลว่า งบประมาณจาก อปท.ถูกมองว่าเป็นกระเป๋าสตางค์สำหรับการชุมนุมเคลื่อนไหว เป็นขุมทรัพย์ของนักการเมืองท้องถิ่น ทั้งนายก อบจ. นายกเทศบาล หรือนายก อบต. ในการจัดซื้อ-จัดจ้าง โครงการแต่ละครั้ง เพื่อให้มี เงินทอน เข้ากระเป๋าตัวเองในที่สุด

          ทั้งนี้ยังมีข้อมูลอีกมากที่ไปถึงมือ คสช. เกี่ยวกับอปท. และก็คงถึงเวลาที่เมื่อคสช.เข้ามาก็ได้จัดการองค์กรแห่งนี้ เพื่อป้องกันการฉกฉวยงบประมาณแผ่นดินเข้ากระเป๋า ท่ามกลางกระแสว่าจะยุบอปท. ในขณะที่บรรดาคนในองค์กรก็ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน โดยยื่นหนังสือไปที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ชุดก่อน ส่วนเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับการตัดงบ 2.2 หมื่นล้านที่กลายเป็นประเด็นลากโยงไปถึงการลงประชามติรัฐธรรมนูญหรือไม่ คงต้องรอดูในอีกไม่กี่อึดใจนี้ !!!

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...