นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการประมวลสถานการณ์กระทรวงสาธารณสุข (MIU) กล่าวถึงข้อเสนอการเดินทางรูปแบบ Travel Bubble ว่า จากการที่ประเทศไทยมีมาตรการเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ทำให้ขณะนี้ไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศติดต่อกัน 31 วัน โดยมีการคัดกรองผู้เดินทางจากต่างประเทศ การเฝ้าระวังทั้งในสถานกักตัวที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) และขยายการตรวจรวมทั้งการเฝ้าระวังในชุมชนและกลุ่มเสี่ยง โดยอาสาสมัครสาธารณสุข
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างระบบเศรษฐกิจสังคม และประชาชนในประเทศปลอดภัย รัฐบาลได้มีนโยบายเตรียมจับคู่เดินทางระหว่างสองประเทศที่สามารถจัดการเรื่องโควิด-19 ได้ดีเท่าๆ กัน (Travel Bubble) โดยมีหลักการคือประเทศที่มีเสี่ยงต่ำเป็นคู่ๆ ไป เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
กำหนดกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น นักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ ครูนานาชาติ และเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งจะต้องมีแผนการทำกิจกรรม หรือ Timeline ที่จะทำในประเทศไทยที่ชัดเจน
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ได้กำหนดมาตรการในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่ประเทศต้นทาง
- ผู้เดินทางต้องอยู่ในประเทศกลุ่ม Travel Bubble ไม่น้อยกว่า 14 วันก่อนเดินทาง
- ได้รับการตรวจคัดกรองโควิด -19 ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนขึ้นเครื่อง
- ทำประกันภัยครอบคลุมการตรวจรักษาโควิด 19 และได้รับใบอนุญาตเดินทาง/ วีซ่า (Travel certificate/Visa) จากสถานทูตไทย
- ขณะเดินทาง ต้องปฏิบัติตามแนวทางที่สายการบินกำหนด สวมหน้ากากตลอดเวลา ลด/เลี่ยงการสัมผัสระหว่างผู้โดยสารด้วยกัน และลูกเรือ-ผู้โดยสาร
- เมื่ออยู่บนเครื่องหากมีอาการไอ จาม มีน้ำมูกจะต้องแยกโซนที่นั่งจากผู้โดยสารอื่นและลูกเรือ มีชุด PPE สำหรับเมื่อมาถึงประเทศไทย
- กำหนดสนามบินที่กรุงเทพฯ หรือสัตหีบ และแยกโซนไม่ปะปนกับผู้โดยสารภายในประเทศ
- มีคัดกรองการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ซึ่งจะต้องเพิ่มขีดความสามารถ/ความรวดเร็วของการตรวจ
รวมทั้งผู้เดินทางเข้าทุกคนต้องมี Application DDCCare, หมอชนะ และใช้สมาร์ทโฟน ที่มีระบบ GPS/Bluetooth/4G เดินทางไปด้วยรถโรงแรมเท่านั้น ซึ่งต้องเป็นโรงแรม/ที่พักที่ระบุไว้ ซึ่งควรแยกชั้นเฉพาะ มีระบบส่งต่อกับโรงพยาบาลคู่สัญญาดูแลรักษา เมื่อผลตรวจเชื้อโควิด 19 เป็นลบจึงเดินทางไปทำกิจกรรมได้ ขณะอยู่ในประเทศไทย ต้องติดตามตัวได้ตลอด และสังเกตอาการตัวเองหากป่วยให้พบแพทย์ หรือโทรปรึกษาทางสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
นพ.ศุภกิจกล่าวต่อว่า ขณะนี้มีหลายประเทศแสดงความสนใจ และมี 2 ประเทศที่ส่งหนังสืออย่างเป็นทางการและระบุรายละเอียดการดำเนินงาน คือ จีน และญี่ปุ่น
กระทรวงสาธารณสุขจะนำข้อเสนอของประเทศต่างๆ มาพิจารณาและเจรจากันเป็นคู่ประเทศ เพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโดยจะเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป