“พุทธิพงษ์” เตรียมเสนอ ครม.ขยายเวลาควบรวม ทีโอที - กสท โทรคมนาคม จากเดิมที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค.นี้ ยืดออกไปเป็น ม.ค. 64 พร้อมนั่งแท่นเป็นประธานคณะกรรมการควบรวม มั่นใจอนาคตบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นที) สดใส หวังใช้ 5G สนองหน่วยงานรัฐ คาดดัน “สรรพชัย-มรกต” เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม เอ็นที
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการควบรวมกิจการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)กับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เข้าด้วยกันเพื่อให้กลายเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที ว่า จะนำเรื่องขอขยายระยะเวลาการควบรวมกิจการออกไปอีก 6 เดือน เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจาณาภายในเดือนก.ค.นี้ จากเดิมที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในวันที่ 14 ก.ค. 2563 เป็นเดือนม.ค. 2564 รวมถึงมีข้อสรุปเรื่องชื่อบริษัทที่ถูกต้อง ซึ่งมีการจดทะเบียนให้เป็นบริษัทมหาชน เนื่องจากบริษัทมหาชน ควบรวมกับบริษัทมหาชน การจดทะเบียนบริษัทใหม่ย่อมเป็นบริษัทมหาชน
สำหรับการขอขยายระยะเวลาครั้งนี้ จะมีการกำหนดกรอบการทำงานที่ชัดเจนว่าแต่ละช่วงเวลาจะดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งส่วนตัวมีแนวคิดว่า การควบรวมกิจการไม่ใช่เพียงการนำทั้ง 2 บริษัทมารวมกัน แต่ต้องการให้เอ็นทีเป็นบริษัทโฮลดิ้ง ซึ่งมีการแบ่งเป็นหน่วยธุรกิจ (บิสสิเนส ยูนิต) ส่วนงานใดที่มีความเกี่ยวข้องกันให้นำมารวมกัน ข้อดีคือ ผู้บริหารจะถูกแยกออกไปเฉพาะทาง ทำให้บุคลากรของทั้ง 2 บริษัทมีเส้นทางการทำงานที่ดีขึ้น เกิดการปรับตัวและมีโอกาสเติบโตในสายงานที่ถนัด ไม่มีผู้บริหารล้น ซึ่งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 บริษัทก็เข้าใจ และมองเป้าหมายให้การควบรวมกิจกิจการไปในทิศทางเดียวกัน คือให้องค์กรเข้มแข็งและอยู่รอด
“หากผมยังอยู่จนถึงวันที่ทุกอย่างครบ ไม่ใช่เฉพาะควบรวมกิจการเสร็จสิ้น ซึ่งผมจะนั่งเป็นประธานควบรวมเอง เอ็นทีต้องมี 5G พร้อมให้บริการ เรามีแนวคิดว่าจะเสนอให้ทุกหน่วยงานภาครัฐที่ต้องใช้ 5G พิจารณาใช้งานของเอ็นทีก่อนซึ่งจะเกิดผลดีกับบริษัทในการแข่งขันกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) รายอื่นๆนอกจากนี้จำเป็นต้องมีการวางแผนเรื่องการลงทุนพัฒนาโครงข่ายให้มีศักยภาพ ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถแข่งขันได้ ทั้งนี้ เนื่องจาก กสท โทรคมนาคม และทีโอที ไม่มีคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz จึงอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรในการเชื่อมโยงโครงข่าย ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะได้รับประโยชน์ในการให้บริการ 5G ร่วมกัน”
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการเสนอโครงการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาทภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นั้น กระทรวงดีอีเอสได้เสนอทั้งหมด 9 โครงการ มูลค่า 15,000 ล้านบาทโดย 2 โครงการเพิ่มเติมจากชุดแรกที่เสนอไป 7 โครงการ ประกอบด้วย โครงการเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนสู่การเติบโตด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า 70 ล้านบาท และโครงการบวร 4.0 เพื่อการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้กับศาสนสถานในการเป็นศูนย์กลางพัฒนาความเท่าทันในการใช้ดิจิทัล มูลค่า 900 ล้านบาท